คลังขยายเวลากลุ่มพิเศษฯร่วม “เราชนะ” 8 – 26 มี.ค.นี้
โฆษกคลัง แจง! ขยายเวลาลงทะเบียนร่วม “เราชนะ” ให้กลุ่มพิเศษฯ-ไร้สมาร์ทโฟน รับ “7 พัน” ช่วง 8 – 26 มี.ค.นี้ แนะใช้บริการผ่าน 3 แบงก์รัฐ ย้ำ! ต้องพิสูจน์และยืนยันตัวตนก่อนใช้จ่ายจริง 9 เม.ย.นี้ ด้านยอดใช้จ่ายจริงของผู้ได้สิทธิฯกว่า 32 ล้านคน พุ่งเกิน 1.2 แสนล้านบาทแล้ว
น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวถึงความคืบหน้าใน การขยายระยะเวลาเปิดรับลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเราชนะ สำหรับประชาชนกลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ (กลุ่มผู้ไม่มีสมาร์ทโฟน) ระหว่างวันที่ 8 – 26 มีนาคม 2564 ว่า ประชาชนที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ในช่วงเวลาดังกล่าว จะทราบผลการคัดกรองคุณสมบัติได้ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2564 เป็นต้นไป
โดยผู้ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติจะได้รับการโอนวงเงินสิทธิ์ จำนวน 7,000 บาทและสามารถใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์ผ่านบัตรประชาชนแบบอเนกประสงค์ (Smart Card) ได้ที่ผู้ประกอบการร้านค้าหรือผู้ให้บริการที่เข้าร่วมโครงการฯ ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน – 31 พฤษภาคม 2564
ทั้งนี้ ประชาชนที่ประสงค์จะลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ในท้องที่เพื่อดำเนินการประสานการจัดหน่วยรับลงทะเบียนเคลื่อนที่ หรือติดต่อที่สาขาหรือจุดให้บริการเคลื่อนที่ของธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน
โดยประชาชนกลุ่มดังกล่าว จะต้องพิสูจน์และยืนยันตัวตนก่อ โดยเสียบบัตรประจำตัวประชาชนอเนกประสงค์ (Dip Chip) ผ่านเครื่องรูดบัตรอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) พร้อมกำหนดรหัส (PIN Code) ที่สาขาหรือจุดบริการเคลื่อนที่ของธนาคารกรุงไทยฯ จึงจะสามารถใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์ผ่านบัตรประจำตัวประชาชนแบบอเนกประสงค์ได้
ส่วนความคืบหน้าของโครงการเราชนะ ณ วันที่ 16 มีนาคม 2564 นั้น โฆษกกระทรวงการคลัง ระบุว่า ความคืบหน้า ดังนี้
1) ประชาชนกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 13.7 ล้านคน ได้มีการใช้จ่ายตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา จำนวน 50,182 ล้านบาท
2) ประชาชนกลุ่มที่อยู่ในระบบฐานข้อมูลของแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ในโครงการเราเที่ยวด้วยกันและคนละครึ่ง และกลุ่มประชาชนทั่วไปที่ลงทะเบียนทางเว็บไซต์ www. เราชนะ .com ที่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติเบื้องต้นและยืนยันการใช้สิทธิ์ร่วมโครงการฯ แล้ว จำนวน 16.6 ล้านคน และมีการใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์สะสมตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา จำนวน 68,139 ล้านบาท
และ 3) ประชาชนกลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษที่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติแล้ว จำนวน 2.0 ล้านคน มียอดใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์สะสมตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2564 เป็นต้นมา จำนวน 2,494 ล้านบาท
ทำให้มีผู้ได้รับสิทธิ์ในโครงการฯ แล้ว รวมทั้งสิ้นจำนวน 32.3 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยแล้วกว่า 120,815 ล้านบาท ซึ่งเป็นการใช้จ่ายผ่าน ผู้ประกอบการร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นที่มีแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ร้านค้าคนละครึ่งที่ตกลงยินยอมเข้าร่วมโครงการฯ รวมถึงผู้ประกอบการร้านค้าและผู้ให้บริการที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ จำนวนทั้งสิ้นมากกว่า 1.2 ล้านกิจการ