ครม.ไฟเขียวภาษีลาภลอย
คลังมั่นใจภาษีลาภลอยจะสร้างความเป็นธรรมในสังคม เนื่องจากโครงการที่รัฐบาลลงทุนได้สร้างผลประโยชน์ให้แก่เจ้าของที่ดิน โดยเสนอจัดเก็บภาษีในอัตราสูงสุดไม่เกิน 5% และรอบรัศมีสูงสุดไม่เกิน 5 กิโลเมตร
นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลังกระทรวงการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวานนี้ (10 ก.ค.) ได้มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.รบ.) ภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐพ.ศ. …. หรือภาษีลาภลอย ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เนื่องจากปัจจุบันรัฐบาลได้ดำเนินการลงทุนจัดทำโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ (โครงการฯ) จำนวนมาก ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ท่าเรือ สนามบิน โครงการทางด่วนพิเศษ และโครงการอื่น ๆ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของประเทศในระยะยาว ซึ่งเมื่อโครงการฯ ดังกล่าวเริ่มดำเนินการจนแล้วเสร็จ จะส่งผลให้ที่ดินและห้องชุดบริเวณรอบโครงการฯ มีมูลค่าเพิ่มขึ้น
ดังนั้น เพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบภาษีและสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาจากผู้ที่ได้รับประโยชน์ดังกล่าว กระทรวงการคลังจึงเห็นควรให้มีการจัดเก็บภาษีจากเจ้าของที่ดินหรือห้องชุดที่ได้รับประโยชน์จากการเพิ่มของมูลค่าที่ดินหรือห้องชุดอันเนื่องมาจากการพัฒนาโครงการฯ และนำรายได้จากการจัดเก็บภาษีดังกล่าวมาใช้ในการพัฒนาประเทศต่อไป
สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.มี 10 เรื่องประกอบด้วย 1.ผู้มีหน้าที่เสียภาษี ได้แก่ บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินหรือครอบครองที่ดินอันเป็นทรัพย์สินของรัฐ หรือเป็นเจ้าของห้องชุดที่ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาทและผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นเจ้าของห้องชุดรอการจำหน่าย ซึ่งอยู่รอบพื้นที่ที่มีโครงการฯ 2. โครง การฯ ที่จัดเก็บภาษี คือ โครงการรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนท่าเรือ สนามบิน โครงการทางด่วนพิเศษ และโครงการอื่น ๆ ที่กำหนดในกฎกระทรวง
3. การจัดเก็บภาษีแบ่งเป็น 2 กรณี ประกอบด้วย 1.ในระหว่างการดำเนินการจัดทำโครงการฯ จะจัดเก็บภาษีจากการขายหรือโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือห้องชุด ซึ่งตั้งอยู่รอบพื้นที่โครงการฯ และ2.เมื่อการก่อสร้างโครงการฯ แล้วเสร็จ จะจัดเก็บภาษีจากการขายเพียงครั้งเดียวจาก จากการขายที่ดิน หรือห้องชุดเฉพาะส่วนที่ได้ประ โยชน์ในเชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาท แต่จะไม่เก็บภาษีที่ดินหรือห้องชุดที่ใช้เพื่อพักอาศัยและที่ดินที่ใช้ประกอบเกษตรกรรม
4.พื้นที่จัดเก็บภาษี กำหนดขอบเขตไว้ไม่เกินรัศมีสูงสุดไม่เกิน 5 กิโลเมตรรอบพื้นที่โครงการฯ เช่น ทางขึ้นและลงทางด่วน สถานีรถไฟฟ้าและสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูง ทั้งนี้ กำหนดขอบเขตจะขึ้นอยู่กับการคณะกรรมการพิจารณากำหนดพื้นที่จัดเก็บภาษี ซึ่งมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน และผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เป็นกรรมการและเลขานุการออกประกาศกำหนดพื้นที่ที่จะจัดเก็บภาษีในแต่ละโครงการฯ
5. หน่วยงานจัดเก็บภาษี ได้แก่ กรมที่ดินในช่วงที่มีการก่อสร้างโครงการและเมื่อการก่อสร้างโครงการเสร็จเรียบร้อยจะเป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีโครงการฯ ตั้งอยู่ 6.ฐานภาษีเพื่อการคำนวณภาษี ให้คำนวณจากส่วนต่างของมูลค่าที่ดิน หรือห้องชุดที่เพิ่มขึ้นระหว่างวันที่รัฐเริ่มก่อสร้างโครงการฯ และมูลค่าในวันที่การก่อสร้างโครงการฯ แล้วเสร็จ สำหรับโครงการฯ ที่ยังก่อสร้างอยู่ในวันที่ พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้ ให้ใช้วันที่ พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้เป็นวันเริ่มต้นในการคำนวณฐานภาษี ทั้งนี้ ในการคำนวณมูลค่าที่ดินและห้องชุด ให้ใช้ราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์ ไม่นับรวมสิ่งก่อสร้าง ส่วนราคาประ เมินห้องชุดเพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้เก็บภาษีในอัตรา 20% ของราคาห้องชุด เนื่องจากเป็นราคาเฉลี่ยของมูลค่าที่ดิน
7. การคำนวณภาษีให้ใช้ฐานภาษีของที่ดินหรือห้องชุดที่คำนวณได้คูณด้วยอัตราภาษี 8. อัตราภาษี กำหนดเพดานอัตราสูงสุดของภาษีที่กรมที่ดินและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจจัดเก็บสูงสุด ไม่เกิน 5% ของฐานภาษี ทั้งนี้ อัตราภาษีที่ใช้จัดเก็บจริงจะกำหนดในพระราชกฤษฎีกา 9. ภาษีที่จัดเก็บได้ให้นำส่งเงินภาษีเข้าคลังเป็นรายได้ของแผ่นดิน และ10. โครงการฯ ที่จัดเก็บภาษี คือ โครงการฯ ที่ยังก่อสร้างอยู่ในวันที่ พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้ หรือโครงการฯ ที่จะก่อสร้างภายหลังจากวันที่ พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้แล้ว
นายพรชัย กล่าวว่าหลังจากที่ ครม.เห็นชอบในหลักการของพ.ร.บ.ฉบับนี้แล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเสนอให้กฤษฎีกาพิจารณาและเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติ (สนช.) ต่อไป อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.ลาภลอย ไม่ได้เป็นการจัดเก็บภาษีซ้ำซ้อนกับพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เนื่องจาก พ.ร.บ.ลาภลอยเป็นการจัดเก็บจากการซื้อขายที่ดินที่ได้รับประโยชน์จากโครงการของรัฐ ขณะที่ พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นภาษีที่ปรับปรุงจากภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งเป็นการเสียภาษีให้แก่ท้องถิ่นเป็นประจำทุกปี
“สศค.ยังไม่สามารถประเมินได้ว่า เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว รัฐบาลจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเท่าไหร่ เนื่องจากไม่มีใครทราบว่า ในช่วงเวลานั้น จะมีการซื้อขายที่ดินมากหรือน้อยเพียงใด ดังนั้น วัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ เน้นเรื่องการสร้างความเป็นธรรมให้แก่สังคมมากกว่า”