“EIC”ยันธปท.คงขึ้นดอกเบี้ย
ศูนย์วิจัยฯไทยพาณิชย์ คาด Fed จ่อขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้งในปีนี้ ทำดอกเบี้ยแตะ 2.25 – 2.50% หลังแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯขยายตัวดีขึ้น คาดไม่ส่งผลกระทบต่อไทยมากนัก เชื่อแบงก์ชาติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่เดิม 1.50% จนสิ้นปี 58 เหตุไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมาก แถมเงินทุนสำรองแกร่ง รับมือเงินทุนเคลื่อนย้ายผันผวนได้แน่
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ออกบทวิเคราะห์คาดการณ์แนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed funds rate) หลังจากนี้อีก 2 ครั้งรวมเป็น 4 ครั้ง จากเดิมที่มีแผนจะปรับขึ้นเพียง 3 ครั้ง แม้การประชุมคณะกรรม การนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) เมื่อ 12-13 มิ.ย.ที่ผ่านมา จะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวอีก 25 bps ไปอยู่ที่ช่วง 1.75 – 2.00% มาแล้ว นั่นแสดงให้เห็นว่า FOMC ได้ปรับมุมมองการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายขึ้น ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ อยู่ในช่วง 2.25 – 2.50% ณ สิ้นปีนี้
“Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่ง พร้อมกับมีมุมมองต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะต่อไปที่ดีขึ้น โดยประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯช่วงที่ผ่านมาขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง ดีขึ้นกว่าการประชุมครั้งก่อนที่ขยายตัวได้ปานกลาง โดยเฉพาะด้านตลาดแรงงานที่ Fed ระบุว่าการจ้างงานยังแข็งแกร่งและอัตราการว่างงานยังลดลง ซึ่งบ่งชี้ถึงตลาดแรงงานที่ตึงตัวขึ้น เมื่อเทียบกับรายงานครั้งก่อน ที่ระบุว่าอัตราการว่างงานจะคงอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ สอดคล้องกับตัวเลขอัตราการว่างงานในเดือนพ.ค. ที่ลดลงสู่ระดับ 3.8% ต่ำสุดในรอบ 18 ปี ซึ่งลดลงเร็วกว่าที่ Fed เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะแตะระดับ 3.8% ในสิ้นปีนี้ ส่งผลให้Fed ปรับคาดการณ์อัตราการว่างงานปี 2018 ลงไปที่ 3.6% จากเดิม 3.8%” ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุ พร้อมคาดการณ์ว่า…
การใช้จ่ายภาคครัวเรือนก็กลับมาฟื้นตัวขึ้นหลังจากที่ชะลอตัวลงในการประชุมครั้งก่อน ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง สำหรับอัตราเงินเฟ้อยังปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยในเดือนเม.ย. อัตราเงินเฟ้อทั่วไป PCE อยู่ที่ 2.0% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน PCE อยู่ที่ 1.8% ทำให้ Fed ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปปี 2018 ขึ้นไปที่ 2.1% จากเดิม 1.9% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขึ้นไปที่ 2.0% จากเดิม 1.9% ซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น มาจากทั้งการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ขยายตัวต่อเนื่อง ค่าจ้างแรงงานที่ฟื้นตัว รวมถึงราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้น
ทั้งนี้ สาเหตุที่ Fed จ่อปรับคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย (dot plot) เนื่องจาก 1.แนวโน้มของเศรษฐกิจที่ร้อนแรงกว่าที่ Fed เคยคาดการณ์ไว้โดยเฉพาะอัตราการว่างงานที่ยังลดลงต่อเนื่อง นอกจากนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ช่วงที่เหลือของปียังมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง จากการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวได้สูง แรงกระตุ้นการลงทุนจากการปฏิรูปภาษี เม็ดเงินใช้จ่ายของรัฐบาลจากการเพิ่มงบประมาณขาดดุล และกำลังซื้อภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มเติบโตจากตลาดแรงงานที่ตึงตัว ส่งผลให้ Fed ปรับคาดการณ์การเติบโตของ GDP ปี 2018 ขึ้นเป็น 2.8% จากเดิม 2.7%
2.เศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและราคาน้ำมันที่สูงขึ้นส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นและอยู่ในระดับเป้าหมายต่อเนื่อง ซึ่งจะสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย นอกจากนี้ ต้องจับตาผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้าที่สำคัญซึ่งอาจทำให้ราคาสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ สูงขึ้น ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในระยะต่อไปได้เช่นกัน
และ 3. ถึงแม้ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาแล้ว 6 ครั้งตั้งแต่ปลายปี 2015 และในการประชุมครั้งนี้เป็นครั้งที่ 7 แต่ภาวะทางการเงินก็ยังอยู่ในระดับผ่อนคลายเมื่อเทียบกับในช่วงปี 2015-17 จึงทำให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายรวม 4 ครั้งในปีนี้จะไม่ทำให้ภาวะทางการเงินตึงตัวจนเกินไป
อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและประมาณการ dot plot ที่สูงขึ้น เป็นไปตามที่ตลาดส่วนใหญ่คาด จึงทำให้ตลาดการเงินไม่ได้ตอบสนองรุนแรงมากนัก ทั้งนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 4 ครั้งในปีนี้ อาจทำให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินได้บ้าง แต่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะยาวจะยังคงปรับสูงขึ้นอย่างช้าๆ โดยอีไอซีมองว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้งในปีนี้ตาม dot plot จะทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะยาวเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปเท่านั้น เพราะคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะยาวยังไม่ได้เปลี่ยนจากเดิมอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะส่งผลต่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะยาวให้ปรับสูงขึ้นอย่างช้าๆ
สำหรับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นั้น ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ คาดว่า น่าจะมีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ในปีสิ้น แม้อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ จะกลับมาสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยและมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐฯ และไทยกว้างขึ้น แต่ด้วยระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวภายใต้การจัดการ (managed float regime) อัตราเงินเฟ้อไทยที่ยังต่ำ และสถานะการเงินระหว่างประเทศที่แข็งแกร่ง จะเป็นปัจจัยรองรับผลกระทบจากดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ที่สูงขึ้นได้ เพราะค่าเงินบาทสามารถปรับอ่อนค่าลงได้ อีกทั้งดุลบัญชีเดินสะพัดไทยที่เกินดุลไปมากและเงินทุนสำรองที่มีขนาดใหญ่สามารถรองรับความผันผวนจากเงินทุนเคลื่อนย้ายได้ ดังนั้น ในการตัดสินนโยบายการเงินนั้น กนง. จึงน่าจะให้น้ำหนักต่อประเด็นการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ค่อนข้างน้อย
ทั้งนี้ ปัจจัยที่สนับสนุนการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะยังคงเป็นเรื่อง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ถึงแม้จะปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมันโลกและเข้ากรอบเป้าหมาย แต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ และ แม้เศรษฐกิจในภาพรวมจะขยายตัวได้ดีกว่าคาด แต่ช่องว่างการผลิต (output gap) ในปัจจุบันยังคงเปิดอยู่นั่นเอง.