กรมศุลฯ คุมเข้มขยะอุตสาหกรรม
กรมศุลกากรคุมเข้มนำเข้าเศษอิเล็กทรอนิกส์ และเศษพลาสติก พร้อมตรวจสอบทุกตู้คอนเทนเนอร์ร้อยเปอร์เซ็นต์แทนการสุ่มตรวจ หลังอายัดตู้คอนเทนเนอร์กว่า 100 ตู้ และผลักดันส่งกลับประเทศต้นทาง 40 ตู้
นายชัยยุทธ คำคุณ โฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ขยะอุตสาหกรรมที่นำเข้าจากต่างประเทศ ปัจจุบันได้ขออนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมนำเข้าเศษพลาสติกปี 2560 จำนวน 145,000 ตัน และปี 2561 ตั้งแต่เดือนม.ค.-เดือนพ.ค. นำเข้ามาแล้ว 212,000 ตัน ขณะที่ เศษอิเล็กทรอนิกส์ปี 2560 นำเข้า 64,436 ตันและปี 2561 ตั้งแต่เดือนม.ค.-เดือนพ.ค.นำเข้ามาทั้งสิ้น 52,221 ตัน สำหรับเศษพลาสติกและเศษอิเลกทรอนิกส์ ทั้ง 2 ชนิด ได้มีการนำเข้าในประเทศไทยภายใต้อนุสัญญาบาเซลเพิ่มปริมาณมากขึ้น หลังจากประเทศจีนประกาศห้ามนำเข้าขยะ ซึ่งมีผลบังคับใช้ปี 2561 จึงไหลเข้ามาไทยสูงขึ้นต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา กรมศุลกากรได้มีการผลักดันเศษพลาสติกและเศษอิเล็กทรอนิสก์ออกจากประเทศไทย หลังจากกรมศุลกากรได้หารือร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ออกระเบียบปฎิบัติ เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมาเช่น ต้องเอกซ์เรย์ตู้คอนเทนเนอร์ที่มีสินค้าทั้งชนิด เป็นต้น จากเดิมกรมศุลกากรใช้วิธีการสุ่มตรวจประมาณ 30% ของจำนวนตู้คอนเทนเนอร์ทั้งหมดการจัดทำฐานข้อมูลร่วมกันระหว่างกรมศุลกากรและกรมโรงงานอุตสาหกรรม (Big Data) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและนำมาวิเคราะห์บริหารความเสี่ยง (Risk Management) เป็นต้น ซึ่งล่าสุดสำนักงานศุลกากรท่า เรือแหลมฉบังได้สั่งอายัดตู้คอนเทนเนอร์เพื่อตรวจสอบ 90 ตู้คอนเทนเนอร์และผลักดันตู้คอนเทนเนอร์กลับไปประเทศ ต้นทาง 40 ตู้คอนเทนเนอร์ สำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ (ท่าเรือคลองเตย) ได้อายัดตรวจ 33 ตู้ สำนักงานตรวจสินค้าลาดกระบังอายัดตรวจ 37 ตู้ จึงทำให้ยังไม่มีตู้คอนเทนเนอร์ที่ขนเศษพลาสติก และเศษอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาในประเทศไทย เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับใบอนุญาตให้รีไซเคิลถูกระงับกิจการ
“ยอมรับว่าเศษอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก หากนำเข้าประเทศจำนวนมาก ขณะที่ โรงงานในประเทศที่สั่งนำเข้ามารีไซเคิลมีการบริหารจัดการไม่ดี อาจผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม เพราะโรงงานบางแห่งตรวจพบคนงานได้รับสารตกค้างจากการแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์”
นายกรีชา เกิดศรีพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง กรมศุลกากร กล่าวว่าล่าสุดได้ตกลงกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว กรณีเปิดตรวจตู้สินค้าเศษอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะจัดส่งเจ้าหน้าไปร่วมตรวจสอบที่ท่าหรือท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือคลองเตยและศูนย์กระจายสินค้าลาดกระบัง เมื่อพบการกระทำความผิดจะทำการผลักดันสินค้าเศษอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกออกไปและให้ผู้นำเข้ารับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด รวมทั้งต้องตรวจสอบย้อนกลับกับบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตในการนำเข้า เมื่อผ่านพิธีการศุลกากรตรวจปล่อยของออกไปแล้ว จะประสานไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรมให้ไปทำการตรวจสอบโรงงานในประเทศเพิ่มเติมและยังตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างกรมศุลกากรและกรมโรงงานอุตสาหกรรมหารือข้อกฎหมายเพื่อกำหนดมาตรการอุดช่องโหว่การนำเข้า และการส่งสินค้าไปยังจุดหมายปลายทาง ซึ่งจากปัจจุบันผู้ประกอบการที่ทำความผิดนอกจากจะถูกลงโทษจากกรมหมายของกรมโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว ยังถูกลงโทษตามกฎหมายของกรมศุลกากรคือ ปรับ 4 เท่าของมูลค่าสินค้า.