ทำใจปีหน้าขึ้นเอฟที-ดันค่าไฟแพงตาม
ดึง 3 การไฟฟ้า ร่วมแคมเปญ “ลดการใช้ไฟฟ้า” กล่อมรายใหญ่เลี่ยงใช้ไฟ ช่วง 13.30 น. – 15.30 น. ตั้งเป้าลด 100 เมกะวัตต์ ด้านโฆษก กกพ. แจงมีเงินค้างเก่ามากพอจะกดค่าเอฟทีปีนี้ แต่ปีหน้าปรับขึ้นแน่ หลังน้ำมันและก๊าซขึ้นราคาต่อเนื่อง
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล โฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวถึงแนวโน้มค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) ในปี 2561 ว่า จะไม่ขยับขึ้น แม้ราคาน้ำมันช่วงนี้จะปรับขึ้นประมาณ 20 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลก็ตาม เนื่องจากยังมีเงินคงค้างของ 3 การไฟฟ้าเหลือ 6,000 ล้านบาท สามารถนำมาบริหารจัดการดูแลได้ประมาณ 8-10 สต./หน่วย (ค่าไฟฟ้าเอฟทีทุก 1 สต./หน่วย มีผลด้านการเงิน 600-680 ล้านบาท) ขณะเดียวกันต้องดูถึงปริมาณการใช้ไฟฟ้า ซึ่งพบว่าปี 2561 มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าไม่ได้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ในปีหน้าคาดว่าค่าเอฟทีคงปรับขึ้นตามราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชา ซึ่งเป็นต้นทุนหลักในการผลิตไฟฟ้าที่ปรับตัวสูงขึ้น
ส่วนมาตรการลดการใช้ไฟฟ้า กกพ.ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จัดทำ“โครงการนำร่องมาตรการความร่วมมือลดการใช้ไฟฟ้า (Demand Response – DR) ในรูปแบบ Critical Peak Pricing (CPP)” ซึ่งมาตรการดังกล่าวเป็นการใช้การลดค่าไฟแทนการจ่ายเงินชดเชย เพื่อจูงใจให้ผู้ใช้พลังงานขนาดใหญ่หลีกเลี่ยงการใช้ไฟฟ้าช่วง 13.30 น. – 15.30 น. ซึ่งเป็นเวลา Critical Peak สำหรับรอบบิล ส.ค. 2561
ทั้งนี้ การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งจะเปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมโครงการฯ โดยสมัครใจตั้งแต่วันที่ 15-30 มิ.ย. 2561 สมัครทางเว็บไซต์ 3 การไฟฟ้าวางเป้าหมายในการลดการใช้ไฟฟ้าเวลา Critical Peak คือ ช่วงเวลา13.30-15.30 น.ของวันจันทร์-ศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดราชการ) ลงไม่น้อยกว่า 100 เมกะวัตต์ จากผู้ที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ประมาณ 1,100 เมกะวัตต์ เกือบ 6,100 ราย.