ตามคาด…กนง.มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยที่ 0.5%
กนง.มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ย 0.5% ต่อปี แต่ปรับเพิ่มเป้าจีดีพีปีนี้เหลือติดลบ 7.8% จากเดิมคาดติดลบ 8.1% หลังเศรษฐกิจไตรมาส2 ขยายตัวดีขึ้น ส่วนปี 2564 คาดจีดีโต 3.6% เหตุท่องเที่ยวฟื้นช้า พร้อมประเมินใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี กิจกรรมเศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัวเท่าช่วงก่อนโควิด-19
นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยภายหลังการประชุม กนง.ว่า ที่ประชุม กนง.มีมติเอกฉันท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.5% ต่อปี โดยมองว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายตั้งแต่ต้นปี มาตรการการคลังของรัฐบาล รวมทั้งมาตรการการเงินและสินเชื่อที่ออกมาเพิ่มเติม ช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น และสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้หลังการระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย
สำหรับเศรษฐกิจไทยในปีนี้มีแนวโน้มหดตัวน้อยลง จึงได้ปรับประมาณการจีดีพี ปีนี้เป็นติดลบ 7.8% จากเดิมคาดติดลบ 8.1% หลังจากเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ชะลอตัวลงน้อยกว่าที่คาด ขณะที่การส่งออกในปีนี้คาดว่าจะติดลบ 8.2% และนำเข้าติดลบ 13.7% ด้านเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้ติดลบ 0.9% และเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.3%
สำหรับปี 2564 กนง.ได้ปรับลดประมาณการจีดีพีลงเหลือโต 3.6% จากเดิม 5% ผลจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้า รวมถึงยังต้องระวังความเสี่ยงการระบาดของโควิด-19 ระลอก 2 ขณะที่การส่งออกคาดว่าจะขยายตัว 4.5% และนำเข้าขยายตัว 4.4% ส่วนเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1% และเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.2%
ส่วนอุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนเอกชนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ตลาดแรงงานยังคงอ่อนแอ การจ้างงานและรายได้ยังคงเปราะบางและจะใช้เวลาในการฟื้นตัว รวมถึงอาจกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและจะส่งผลต่อการบริโภคภาคเอกชนในระยะต่อไป คณะกรรมการจึงคาดว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมจะกลับสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาด อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวจะแตกต่างกันระหว่างภาคเศรษฐกิจและผู้ประกอบการแต่ละกลุ่ม
อย่างไรก็ตาม หากมองไปข้างหน้า มาตรการภาครัฐจำเป็นต้องตรงจุดและทันการณ์มากขึ้น โดยจะต้องเร่งสนับสนุนการจ้างงาน การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่ละภาคส่วนต้องบูรณาการมาตรการให้สอดคล้องกัน ทั้งมาตรการด้านการคลังที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลัก นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่อง มาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ช่วยเสริมสภาพคล่อง รวมถึงต้องให้ความสำคัญกับนโยบายด้านอุปทานเพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การปรับรูปแบบการทำธุรกิจ และการพัฒนาทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับบริบทใหม่ เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
คณะกรรมการเห็นว่า สภาพคล่องโดยรวมยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งต้องเร่งดำเนินการให้กระจายตัวไปสู่ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบมากขึ้น ด้านอัตราแลกเปลี่ยน แม้เงินบาทอ่อนค่าลงจากการปรับครั้งก่อน และเงินสกุลภูมิภาคส่วนใหญ่ คณะกรรมการเห็นว่าหากเงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นเร็ว อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งประเมินความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม