สมาคมประกันวินาศภัยไทยพัฒนาแอพช่วยเกษตกร
สมาคมประกันวินาศภัยไทยร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ พัฒนาแอพพลิเคชั่นสำรวจความเสียหายจากภัยธรรมชาติ ช่วยเกษตรกรได้รับเงินชดเชยเร็วขึ้น ตั้งเป้าปีหน้ายอดดาวโหลดแตะ100% ลุ้นยอดจ่ายค่าสินไหมปีนี้ลดเหลือ40-50% หลังฝนตกตามฤดูกาล
ภัยจากธรรมชาติและภัยจากศัตรูพืชนับวันจะมีความรุนแรงมากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศหรือClimate Change จึงเกิดโครงการประกันภัยข้าวนาปีและโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสมาคมประกันวินาศภัยไทยกับภาครัฐในการประกันภัยพืชผล
นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เชื่อว่าหากเกษตรกรไทยมีระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงเพื่อบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นจะช่วยให้เกษตรกรมีความมั่นใจและมั่นคงในการประกอบอาชีพมากขึ้น ถึงแม้ว่าบริษัทประกันวินาศภัยจะประสบ ภาวะขาดทุนจากการรับประกันภัยในบางปี แต่ภาคธุรกิจประกันวินาศภัยยังคงมีเจตนารมณ์ที่มุ่งมั่นในการทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการบริหารความเสี่ยงให้กับภาคเกษตรกรรมของไทยและพร้อมให้ความร่วมมือและตอบสนองนโยบายของภาครัฐในอนาคต
การดำเนินงานของโครงการประกันภัยข้าวนาปีตั้งแต่เริ่มโครงการปี 2554 จนถึงปี 2562 หรือ 9ปีที่ผ่านมาได้คุ้มครองพื้นที่ปลูกข้าวเป็นจำนวนกว่า116ล้านไร่ทั่วประเทศ มีเบี้ยประกันภัยเข้าระบบประกัน 9,625 ล้านบาท และจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้เกษตรกรแล้ว 10,803 ล้านบาท มีอัตราการจ่ายค่าสินไหมทดแทนแล้ว 113% ส่วนผลการรับประกัน ในปี 2563 มีพื้นที่รับประกันภัยรวมกว่า 44 ล้านไร่ คิดเป็นอัตราการเข้าถึง 72.57% และมีเบี้ยประกันภัยรวม 3,758 ล้านบาท
ส่วนปีการผลิต63/64นี้คาดว่าอัตราการเคลมน่าจะอยู่ที่ 40-50% จากปีที่ผ่านมาที่มีสัดส่วนสูงถึง 223% คิดเป็นค่าสินไหมประมาณ 5,000 ล้านบาท เนื่องจากฝนที่ตกตามฤดูกาลทำให้มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก ส่งผลให้อัตราค่าเบี้ยประกันภัยในปีนี้น่าจะอยู่ที่ 97 บาทต่อไร่ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา
โครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เริ่มโครงการเมื่อปี 2562 ปีแรกพบว่าผลการดำเนินงานคุ้มครองพื้นที่ปลูกข้าวโพดเป็นจำนวน 1.8 ล้านรายทั่วประเทศ มีเบี้ยประกันภัยเข้าสู่ระบบประกัน 76 ล้านบาทและจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้เกษตรกรแล้วกว่า 348 ล้านบาท มีอัตราการจ่ายสินไหมทดแทนกว่า 458% ส่วนผลการรับประกันในปี 2563 มีพื้นที่รับประกันภัยรวมกว่า 2 ล้านไร่คิดเป็นอัตราการเข้าถึง 71.82% และมีเบี้ยประกันภัยรวม 325 ล้านบาท
นายกี่เดช อนันต์ศิริประภา ผู้อำนวย การบริหารสมาคมประกันวินาศภัยไทย บอกว่า สมาคมได้ร่วมกับสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์ ,ธนาคารแห่งประเทศไทย, กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ,สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจ Digital กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ,ธนาคาร ธ.ก.ส., สำนักงานเศรษฐกิจการคลังและสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยศึกษาวิจัย ได้ศึกษาวิจัยและนำเทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมมาใช้ในการสำรวจความเสียหายจากภัยธรรมชาติของแปลงนา ซึ่งเกษตรกรสามารถถ่ายรูปรายงานความเสียหายได้เองผ่านทางโทรศัพท์มือถือ ผ่านแอพพลิเคชั่น”มะลิซ้อน”สำหรับโครงการประกันภัยข้าวนาปีและแอพพลิเคชั่น”รีคัลท์”สำหรับโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ควบคู่ไปกับการประเมินความเสียหายโดยคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติภาครัฐ
โดยคาดว่าสิ้นปี 2563 จะมีเกษตรกรใช้แอพพลิเคชั่นทั้ง2 แบบประมาณ 60-70% และในปี 2564 จะมีเกษตรกรใช้ App เพิ่มขึ้นเป็น 100% ซึ่งจะทำให้การชดเชยค่าสินไหมไปถึงมือเกษตรกรได้เร็วขึ้นจากปัจจุบันที่ใช้เวลา 1-3 เดือน จะลดลงเหลือเพียง7วัน
“นอกจากการพัฒนาApplication ทั้งสองแล้ว สมาคมฯกำลังพิจารณาที่จะใช้โดรน มาเป็นเครื่องมือช่วยในการสำรวจความเสียหายให้กับเกษตรกร คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปีหน้าโดยการใช้โดรนได้มีการดำเนินการแล้วในต่างประเทศ เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น“