KTB มีกำไรสุทธิ6,082ล้านบาท ไตรมาส 1 ปี 63
ธนาคารกรุงไทย รายงานผลประกอบการไตรมาส 1/2563 มีกำไรสุทธิ 6,082 ล้านบาท ลดลง 16.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักเกิดจากรายได้ดอกเบี้ยลดลงจากมาตรการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย
ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) รายงานผลประกอบการไตรมาส 1/2563 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 6,082 ล้านบาท ลดลง16.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลง โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันปีก่อน และมีรายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อที่มาจากการได้รับเงินบางส่วนจากการขายทอดตลาดทรัพย์สินหลักประกันจำนองจำนวน 3,899 ล้านบาทในไตรมาส 1/2562 แม้ว่าธนาคารมีการบริหารจัดการทางการเงินที่ดีทำให้ต้นทุนทางการเงินลดลง ในขณะที่ค่าใช้จ่ายลดลงซึ่งมีสาเหตุหลักจากการขาดทุนจากการด้อยค่าทรัพย์สินรอการขายในไตรมาส 1/2562
ทั้งนี้ ธนาคารมีค่าใช้จ่ายลดลง 16.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีค่าใช้จ่ายจากการขาดทุนของการด้อยค่าของทรัพย์สินรอการขาย ส่งผลให้ธนาคารมี Cost to Income ratio ที่ 44.2% ลดลงจาก 48.2% ในช่วงเดียวกันของปี 2562ในไตรมาสนี้ ถึงแม้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (NPLs Ratio-Gross) เท่ากับ 4.36% อยู่ในระดับใกล้เคียงกับสิ้นปี 2562
อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพก่อนหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อรวมเท่ากับ 4.36% เพิ่มขึ้นจาก 4.33% จากสิ้นปี 2562 โดยสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อน เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงและการใช้มาตรฐาน TFRS9 โดยธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยงเท่ากับ 14.39% และ 18.16% ตามลำดับ
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย จากสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องไปทั่วโลกของ COVID-19 ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อการดำเนินธุรกิจและทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลง รัฐบาล กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจและประชาชนในทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน และ ธนาคารมีผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ตามาตรฐาน TFRS9 จำนวน 8,524 ล้านบาท โดยตั้งสำรองตามกระบวนการ management overlay ซึ่งพิจารณาจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 โดยมีอัตราส่วน Coverage Ratio ณ วันที่ 31 มี.ค.2563 ที่ 126.50% ลดลงจาก 131.76% ณ สิ้นปี 2562.