KBANK เข้าถือหุ้นธนาคารแมสเปี้ยน 40% ในอินโดนีเซีย
ธนาคารกสิกรไทยได้เข้าไปศึกษาและร่วมทำงานกับทีมงานของธนาคารแมสเปี้ยนเป็นเวลากว่า 2 ปี ทำให้เราเห็นถึงโอกาสทางธุรกิจที่มากมายในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่ยังเติบโตและมีอนาคตสดใสในอาเซียน ที่สามารถใช้ความเชี่ยวชาญทางผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคาร รวมถึงจะใช้รูปแบบการทำธุรกิจที่เป็น Asset-Light และการลงทุนพัฒนาดิจิทัล แบงกิ้ง ตามแนวโน้มพฤติกรรมของลูกค้า
ธนาคารกสิกรไทยตอกย้ำการเป็นธนาคารแห่งภูมิภาค AEC+3 ลุยตลาดอินโดนีเซีย เข้าถือหุ้นในธนาคารแมสเปี้ยน 40% มุ่งเน้นนวัตกรรมจากเทคโนโลยีดิจิทัลให้บริการเพื่อขยายฐานกลุ่มลูกค้าท้องถิ่นในอินโดนีเซีย พร้อมเชื่อมโยงเครือข่ายการให้บริการแก่นักธุรกิจไทยและต่างชาติ เชื่อมต่อการค้าการลงทุนใน CCLMVI (จีน กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และอินโดนีเซีย) การลงทุนในธนาคารแมสเปี้ยนครั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทยดำเนินการผ่าน บริษัท กสิกร วิชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลงทุน (Investment Holding Company) ที่ธนาคารกสิกรไทยถือครองหุ้น 100% ในลักษณะเดียวกับการเข้าไปลงทุนในธนาคารเอแบงก์ของเมียนมา โดยจะใช้เงินลงทุนรวมไม่เกิน 130 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ การเข้าถือหุ้นในธนาคารแมสเปี้ยนเพิ่มในครั้งนี้ ได้รับการอนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติจากสำนักงานกำกับดูแลธุรกิจการเงินของอินโดนีเซีย (OJK) ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในกลางปีนี้
นายภัทรพงศ์ กัณหสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย และประธานกรรมการ บริษัท กสิกร วิชั่น จำกัด (KVision) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2563 บริษัท กสิกร วิชั่น ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นธนาคารแมสเปี้ยน (PT Bank Maspion Indonesia Tbk) ประเทศอินโดนีเซีย ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นรวมเป็น 40% ซึ่งเป็นสัดส่วนสูงสุดที่สำนักงานกำกับดูแลธุรกิจการเงินของอินโดนีเซีย (Otoritas Jasa Keuangan หรือ OJK) อนุญาตภายใต้กฎการถือครองหุ้นธนาคารในอินโดนีเซียโดยผู้ถือหุ้นที่เป็นธนาคารพาณิชย์ โดยเป็นการเพิ่มสัดส่วนจากที่ธนาคารกสิกรไทยมีอยู่เดิม 9.99% ตั้งแต่ปี 2560
โดยจะใช้กลยุทธ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการตาม 3กลุ่มลูกค้าดังต่อไปนี้
1)กลุ่มธุรกิจบรรษัทขนาดใหญ่: สนับสนุนธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยและต่างชาติที่ลงทุนในอินโดนีเซียรวมถึงกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ในอินโดนีเซีย ด้วยผลิตภัณฑ์และบริการที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทั้งสินเชื่อและบริการการจัดการทางการเงิน รวมทั้งพัฒนาช่องทางอินเทอร์เนท แบงกิ้งและผลิตภัณฑ์ Payroll เพื่อเพิ่มความสะดวกและหลากหลายในการใช้บริการของลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัล
2)กลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี: มุ่งเน้นการให้สินเชื่อให้กับกลุ่มลูกค้าขนาดกลางและย่อมโดยใช้ Data Lending และ Formula Lending Model เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการปล่อยสินเชื่อ รวมทั้งขยายธุรกิจร้านค้ารับบัตร (Acquiring Business) เพื่อรองรับการชำระเงินแบบ Non-Cash Payment
3)กลุ่มลูกค้าบุคคล: นำนวัตกรรมมาปรับปรุงระบบโมบายแบงกิ้งที่มีให้ดียิ่งขึ้น และผลักดันสินเชื่อมีหลักประกัน เช่น สินเชื่อบ้าน สินเชื่อบุคคล รวมถึงพัฒนา Data Analytic Lending Platform โดยใช้ Data จากธุรกิจร้านค้ารับบัตร.