CHECKPOINT แค่ก้าวก็เป็น “ฮีโร่”

ก้าวเดินแลกแต้ม! ผ่านแอปฯ CHECKPOINT สร้าง “ฮีโร่พันธุ์ใหม่” ง่ายๆ เผยผู้ชนะจากโครงการ Hackathon ที่แบงก์กรุงเทพ ร่วมกับ มธ. สร้างมา อาจปลุกกระแสหนุน “คนไทยรุกขึ้นออกกำลังกาย” เผยเตรียมลองระบบครั้งใหญ่ผ่านงาน “85 ปี TU Running” 22 มิ.ย.นี้
โลกของคนรุ่นใหม่ที่มาพร้อมกับ “ดิจิทัล เทคโนโลยี” อันเป็นผลต่อเนื่องจากความร่วมมือระหว่างธนาคารกรุงเทพ กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เพราะผลจากการจัดโครงการระดมไอเดียทางธุรกิจ Hackathon เมื่อ 1 ปี ถึงวันนี้…พวกเขาได้ตัวแทนคนยุค “ดิจิทัล” ในชื่อทีม CHECKPOINT ที่มาพร้อมรางวัลชนะเลิศ กับแนวคิด “แค่เริ่มก้าวก็เป็นฮีโร่ได้”
นายพีรวัส เตียวเจริญ ตัวแทนจากทีม CHECKPOINT กล่าวว่า การสร้างแรงจูงใจทำให้คนไทยตัดสินใจ “เริ่มต้น” ออกกำลังด้วยการเดิน ถืออะไรที่ง่าย ประหยัด และลงมือทำได้เร็วที่สุด เพียงแค่ใส่แรงจูงใจเข้าไว้ และนั่นคือ ที่มีของแอปพลิเคชั่นที่มีชื่อเดียวกับชื่อทีมฯ
“โซลูชั่นที่ทีมฯนำเสนอคือ แอปฯ CHECKPOINT ที่จะช่วยสะสมก้าวเดินให้มีค่าเปรียบเสมือนค่าเงิน เบื้องต้นกำหนดไว้คือ ทุก 1,000 ก้าว มีค่าเท่า 1 บาท มูลค่าที่ได้จากการเดิน สามารถนำไปใช้ซื้อหรือเป็นส่วนลดในการซื้อสินค้าและบริการได้ ส่วนนี้เรียกว่า “ก้าวแลกโปรฯ” หรือจะนำไปบริจาคให้องค์กร หน่วยงาน หรือมูลนิธิต่างๆ ก็ยังได้ เรียกว่า “ก้าวแลกใจ” จึงไม่จำเป็นว่า การจะเป็นฮีโร่ได้นั้น ต้องมีเงินหรือใช้เงินบริจาคเพียงอย่างเดียว การบริการทุกๆ ก้าวที่เดิน ก็เป็นฮีโร่ได้ เชื่อว่าสิ่งนี้อาจกระตุ้นให้คนไทยหันมาใส่กับการออกกำลังกาย เริ่มต้นด้วยการเดิน” ตัวแทนจากทีม CHECKPOINT ระบุ และว่า
จากนี้ไป เขาและเพื่อนในทีมฯจะเดินหน้าหาพันธมิตร คือ ร้านค้าและธุรกิจระดับต่างๆ มาเข้าร่วมโครงการนี้ โดยตั้งเป้าเปิดตัวแอปฯอย่างเป็นทางการในวันที่ 16 มิ.ย.นี้ และคาดว่าจะมีผู้โหลดแอปฯในช่วงแรงไม่เกิน 200,000 ราย ซึ่งเป็นระดับที่พอจะรับมือกับการให้บริการได้ ส่วนถ้ามากกว่านั้นคงต้องพัฒนาศักยภาพของแอปฯกันต่อไป
ด้าน น.ส.พจณี คงคาลัย ผช.ผจก.ใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ธนาคารฯร่วมกับ มธ. สนับสนุนโครงการสตาร์ทอัพ สำหรับนักศึกษา เพื่อร่วมส่งเสริมการแสดงความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาโซลูชั่นใหม่ๆ ที่นำเทคโนโลยีมาช่วยแก้ปัญหาทางสังคมอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน เป้าหมายเพื่อให้ประเทศไทยมีการพัฒนา “ดิจิทัล อีโคซิสเต็ม” (ระบบนิเวศน์ดิจิทัล) ให้เพิ่มมากขึ้น โดยสนับสนุนกลุ่มนักศึกษาที่มีศักยภาพและความสามารถ แต่ยังขาดโอกาส ประสบการณ์ และงบประมาณ รวมถึงจัดส่งบุคลากรมืออาชีพมาช่วยแนะนำเพื่อพัฒนาโซลูชั่นให้ตอบโจทย์การใช้งานมากที่สุด
ส่วน พญ.อรพรรณ โพนุชกูล รองอธิการบดี ฝ่ายกิจการนักศึกษา มธ. กล่าวว่า โครงการข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายและกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นให้นักศึกษามีคุณลักษณะ GREATS มีทักษะการเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ทั้งในระดับการเรียนการสอน การจัดฝึกอบรม การจัดตั้งธุรกิจจริงให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อน มธ.ให้เป็น “มหาวิทยาลัยแห่งผู้ประกอบการ”
โดยเร็วๆ นี้ มธ.เตรียมจัดโครงการเสริมสร้างนักศึกษาให้เป็นผู้ประกอบการด้านสังคม (Soclal Startup : SS-Project) เพื่อพัฒนาโครงการสนับสนุนส่งเสริมกิจการเพื่อสังคม จากนั้น ก็จะมีกิจการ Pitch Deck กับนักลงทุนต่อไป
“สำหรับ แอปฯ CHECKPOINT ที่นักศึกษากลุ่มนี้ ได้คิดค้นและพัฒนาขึ้นมานั้น ต้องถือว่าพวกเขาเป็นเจ้าของสิทธิบัตรที่สามารถจะนำไปต่อยอดทางธุรกิจอย่างแท้จริง ทั้งนี้ หากองค์กรหรือบริษัทใดต้องการจะนำแอปฯนี้ไปใช้ภายในองค์กรร่วมกับพนักงาน และ/หรือ ลูกค้าของตน ก็จะต้องจ่ายเป็นค่านำแอปฯไปใช้ให้กับเจ้าของฯ ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่จะเตรียมนำแอปฯตัวนี้ไปใช้ในกิจกรรม “85 ปี TU Running” ที่จะมีขึ้นในวันที่ 22 มิ.ย.นี้ ก็ต้องจ่ายให้เช่นกัน ซึ่งในวันนั้น คงถือเป็นการทดลองแอปฯและกิจกรรมต่อเนื่องกับผู้ที่สมัครเข้ามาวิ่งกว่า 3,000 คน ซึ่งมีทั้งคณาจารย์และบุคลกากรทางการศึกษา นักศึกษาปัจจุบัน และอดีตนักศึกษา ซึ่งถือเป็นคนนอกและเป็นประชาชนทั่วไปเลยทีเดียว” พญ.อรพรรณ ระบุ.