Krungsri มองสงครามการค้ากดดันดอลลาร์
กรุงศรีคาดเงินบาทซื้อขายในกรอบ 30.50-30.85 มองสงครามการค้ากดดันดอลลาร์
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาท ในสัปดาห์นี้ว่ามีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 30.50-30.85 ต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 30.73 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทย 8.0 พันล้านบาท และ 2.7 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยฟื้นตัวขึ้นจากระดับต่ำสุดในรอบหลายปีท่ามกลางแรงขายของต่างชาติ ด้านเงินดอลลาร์อ่อนค่าเทียบสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ ขณะที่สงครามการค้าปะทุขึ้นอีกรอบ โดยเหตุการณ์ที่จีนประกาศมาตรการตอบโต้สหรัฐฯ บดบังถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งไม่ได้ให้คำมั่นว่าจะปรับลดดอกเบี้ยลงอย่างรวดเร็ว ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอายุ 2 ปีขึ้นมาอยู่เหนืออัตราผลตอบแทนประเภท 10 ปี สะท้อนภาวะ Inversion ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า เงินดอลลาร์จะยังเผชิญแรงขายจากคาดการณ์ว่า สงครามการค้าที่รุนแรงขึ้นจะกดดันให้เฟดลดดอกเบี้ยลงอย่างต่อเนื่อง แต่ความหวังเรื่องลดดอกเบี้ยอาจไม่เพียงพอที่จะทำให้นักลงทุนกลับเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยงในช่วงนี้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจการค้าโลก ขณะที่ภาวะความผันผวนสูงจะยังคงมีแนวโน้มหนุนค่าเงินเยน โดยตลาดจับตาข้อขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนซึ่งกำลังเข้าสู่จุดแตกหัก หลังจากจีนระบุว่าจะเก็บภาษีสินค้าสหรัฐฯ วงเงิน 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่วนปธน.ทรัมป์ประกาศตอบโต้ว่าจะปรับขึ้นภาษีอีก 5% สำหรับสินค้านำเข้าจากจีนและเรียกร้องให้กลุ่มธุรกิจสหรัฐฯย้ายออกจากจีน นอกจากนี้ ผู้นำสหรัฐฯระบุว่า จะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนวงเงิน 2.5 แสนล้านดอลลาร์เป็น 30% จาก 25% โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. และจะปรับขึ้นภาษีที่ได้วางแผนไว้สำหรับสินค้าจีนวงเงิน 3 แสนล้านดอลลาร์ เป็น 15% จาก 10% โดยจะเริ่มเก็บภาษีบางรายการตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. และเลื่อนการเก็บภาษีสินค้าดังกล่าวราวครึ่งหนึ่งไปเป็นวันที่ 15 ธ.ค.
สำหรับปัจจัยในประเทศ กระทรวงพาณิชย์รายงานตัวเลขส่งออกเดือนก.ค. เติบโต 4.28% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 5 เดือน ขณะที่นำเข้าเพิ่มขึ้น 1.67% อย่างไรก็ดี หากไม่รวมการส่งออกทองคำ มูลค่าส่งออกจะหดตัว 0.4% ขณะที่ผลกระทบจากสงครามการค้าอาจทำให้จีนเร่งนำเข้าเพื่อผลิตก่อนการขึ้นภาษีจากสหรัฐฯ ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ ส่งออกลดลง 1.91% และการนำเข้าหดตัว 1.81% เรามองว่าความเสี่ยงด้านขาลงของเศรษฐกิจมีมากขึ้น และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจตัดสินใจลดดอกเบี้ยลงอีกครั้งในปีนี้