ไซยะบุรี พาวเวอร์ ประสบความสำเร็จ ขายหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมยอดจองเกินเป้า

นายวรพจน์ อุชุไพบูลย์วงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด (XPCL) บริษัทร่วมในเครือของ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKPower (ชื่อย่อหลักทรัพย์: CKP) หนึ่งในผู้นำในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคและมีคาร์บอนฟุตพรินต์ที่ต่ำที่สุดรายหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ
ไซยะบุรี เปิดเผยว่า ตามที่ XPCL เปิดขายหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสกุลเงินบาท (Green Debentures) ครั้งที่ 1/2568 ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ และหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสกุลเงินบาทแบบมีประกัน (Guaranteed Green Debentures) ครั้งที่ 2/2568 ประเภทไม่ด้อยสิทธิ และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ โดยเสนอขายให้แก่นักลงทุนสถาบัน และ/หรือ ผู้ลงทุนรายใหญ่ เมื่อวันที่ 18, 21 และ 22 กรกฎาคม 2568 นั้น ประสบความสำเร็จอย่างสูง สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อศักยภาพของบริษัท ในมิติการดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างเสถียรภาพทางพลังงานของประเทศไทย และช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนร่วมกัน

นายวรพจน์ กล่าวว่า บริษัทขอขอบคุณนักลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่ที่ไว้วางใจและเชื่อมั่นในหุ้นกู้และการดำเนินธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัททำให้ได้รับความสนใจจนยอดจองเกินวงเงินเสนอขาย โดยจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ไปชำระคืนตราสารหนี้ที่ออกในปี 2565 ซึ่งจะครบกำหนดในเดือนกรกฎาคม 2568 และเป็นการเตรียมความพร้อมในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานอย่างยั่งยืน
สำหรับการออกหุ้นกู้ในครั้งนี้ มี 2 รุ่นประกอบด้วย
• หุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสกุลเงินบาท ครั้งที่ 1/2568 จำนวน 3,000 ล้านบาท (BBB+/Stable โดย TRIS Rating) ประกอบด้วย
• หุ้นกู้ชุดที่ 1 อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 4.85% ต่อปี
• หุ้นกู้ชุดที่ 2 อายุ 4 ปี อัตราดอกเบี้ย 5.00% ต่อปี
• หุ้นกู้ชุดที่ 3 อายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ย 5.15% ต่อปี
• หุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสกุลเงินบาทแบบมีประกัน ครั้งที่ 2/2568 จำนวน 1,000 ล้านบาท อายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ย [2.80%] (AAA/Stable โดย TRIS Rating)
หุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Debentures) ของ XPCL มีการจัดทำและดำเนินการตามกรอบตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond Framework) ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐาน Green Bond Principles 2021, Green Loan Principles 2021 และ ASEAN Green Bond Standards 2018 และได้ผ่านการสอบทานโดยองค์กรรับรองมาตรฐานชั้นนำของโลก DNV ในฐานะผู้สอบทานอิสระ (Independent External Reviewer) โดยมี ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เอ็กซ์สปริง และบริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย พลัส เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่าย
XPCL ได้รับสัมปทานจากรัฐบาล สปป.ลาว ให้ออกแบบ พัฒนา ก่อสร้าง และดำเนินการ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี มีกำลังผลิตติดตั้ง 1,285 เมกะวัตต์ ซึ่งไฟฟ้าที่ผลิตได้เกือบทั้งหมดจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าซึ่งมีระยะเวลา 29 ปี นับตั้งแต่เริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2562 ทั้งนี้ XPCL ผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำเฉลี่ยได้กว่า 7,000 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี (GWh/Year) โดยพลังงานดังกล่าวจัดเป็นพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สามารถช่วยให้ประเทศไทยหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 3.8 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี (tCO2e)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : “ไซยะบุรี” ขายหุ้นกู้ 3.5 พันล้านบาทหมดเกลี้ยง