ธนาคารไทยเครดิต ยื่นไฟลิ่งเสนอขายหุ้น IPO ธนาคาร ในรอบ 10 ปี
กรุงเทพฯ – ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) (“ธนาคารฯ”)
ตั้งเป้าหมายเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (“ตลาดหลักทรัพย์ฯ“) ประมาณภายในปี 2566 นี้ โดยได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (“สำนักงาน ก.ล.ต.“) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ไปแล้วเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 โดยสร้างสถิติในรอบ 10 ปี ในการเป็นหุ้นในกลุ่มธนาคารที่ได้ยื่นไฟลิ่งเพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยการระดมทุนในครั้งนี้จะช่วยเสริมสถานะเงินกองทุนของธนาคารฯ ให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นเพื่อพร้อมสนับสนุนศักยภาพในการเติบโตด้านสินเชื่อของธนาคารฯ ได้ดียิ่งขึ้น และเพื่อเป็นการตอกย้ำการมุ่งสู่การเป็นธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อยอันดับหนึ่งในการให้บริการสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการรายย่อยและลูกค้าบุคคล รวมไปถึงความมุ่งหวังที่จะช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบให้เข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ เพื่อช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมในประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับปรัชญาการดำเนินธุรกิจของธนาคาร “Everyone Matters ทุกคนคือคนสำคัญ” โดยได้แต่งตั้งธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงินของธนาคารฯ สำหรับเสนอขายหุ้น IPO ในครั้งนี้
นายวิญญู ไชยวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารฯ เป็นผู้ให้บริการสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการรายย่อยและลูกค้าบุคคล โดยมีกลุ่มผลิตภัณฑ์สินเชื่อหลัก ประกอบด้วย สินเชื่อนาโนและไมโครเครดิตเพื่อคนค้าขาย (Nano and Micro Finance) สินเชื่อธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี (Micro SME) และสินเชื่อบ้าน ซึ่งประกอบด้วย สินเชื่อบ้านแลกเงิน และ สินเชื่อรีไฟแนนซ์บ้าน โดยการให้บริการสินเชื่อมุ่งเน้นไปยังกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของกิจการแผงลอย ร้านค้าขนาดเล็กและขนาดกลาง ตลอดจนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและไมโครเอสเอ็มอี ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรแบบยั่งยืนและมีส่วนช่วยเหลือเศรษฐกิจและสังคม
ด้วยประสบการณ์การให้บริการสินเชื่อเพื่อรายย่อยที่หลากหลายมากว่า 10 ปี ทำให้ธนาคารฯ มีความเข้าใจในกลุ่มลูกค้าเป้าหมายอย่างลึกซึ้ง ประกอบกับการมีผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลายและตอบสนองความต้องการพอดีกับกลุ่มลูกค้าหลากหลายขนาดและประเภทธุรกิจ นอกจากนี้ การบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพและการบริหารจัดการความเสี่ยงที่รัดกุม ทำให้ธนาคารฯ เชื่อว่าธนาคารฯ อยู่ในจุดที่สามารถขยายพอร์ตสินเชื่อในการสนับสนุนกลยุทธ์ทางธุรกิจและบรรลุการเติบโตที่มั่นคงและยั่งยืน
จากประมาณการของอิปซอสส์ (IPSOS) คาดว่าในปี 2565 มูลค่าตลาดของการกู้ยืมนอกระบบอยู่ที่ 2.35 ล้านล้านบาท และยังคาดการณ์ว่าความต้องการด้านเงินกู้นอกระบบยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปี 2565 ภายหลังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศไทยซึ่งภาคธุรกิจมีความต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อใช้ในการกลับมาประกอบกิจการ ทำให้ธนาคารฯ เชื่อว่าตลาดสินเชื่อรายย่อยยังมีโอกาสเติบโตต่อไปได้อีกมาก
เพื่อรองรับการเติบโต เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 ธนาคารฯ จึงได้ดำเนินการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) โดยจำนวนหุ้นที่คาดว่าจะเสนอขายทั้งหมด (รวมหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ออกและเสนอขายโดยธนาคารฯ และหุ้นสามัญที่เสนอขายโดยผู้ถือหุ้นเดิม) ไม่เกิน 347,029,122 หุ้น คิดเป็นไม่เกินร้อยละ 28.2 ของจำนวนหุ้นจดทะเบียนและชำระแล้วทั้งหมดของธนาคารฯ ภายหลังการทำ IPO รวมจำนวนหุ้นที่ผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินอาจใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญในกรณีที่มีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน
สำหรับวัตถุประสงค์ของการระดมทุนในครั้งนี้ โดยหลักจะนำไปใช้เป็นเงินทุนในการรองรับการขยายพอร์ตสินเชื่อ และปรับปรุงและพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการช่วยผลักดันให้ธนาคารฯ มีแหล่งเงินลงทุนเพื่อนำไปให้บริการผลิตภัณฑ์ทางการเงินแก่ผู้ประกอบการรายย่อยซึ่งเป็นรากฐานของประเทศ
โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ธนาคารฯ มียอดเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ (ไม่รวมดอกเบี้ยค้างรับและรายได้ดอกเบี้ยที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ) อยู่ที่ 121,298.0 ล้านบาท โดยเงินให้สินเชื่อหลักมาจากสินเชื่อธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี ทั้งนี้ เงินให้สินเชื่อของธนาคารฯ เติบโตอย่างรวดเร็วและแข็งแกร่งที่อัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมร้อยละ 32.7 ต่อปี ในระหว่างปี 2563 ถึงปี 2565
นอกจากนี้ สำหรับปี 2565 ธนาคารฯ มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 2,352.5 ล้านบาท โดยคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมร้อยละ 30.9 ต่อปี ในระหว่างปี 2563 ถึงปี 2565 และยังมีอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) สำหรับปีเดียวกันอยู่ที่ร้อยละ 18.9 ทั้งนี้ ธนาคารฯ ให้ความสำคัญกับการดูแลโครงสร้างต้นทุนการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ โดยต้นทุนการดำเนินงานส่วนใหญ่ของธนาคารฯ ถูกใช้เพื่อให้ได้มาซึ่งลูกค้ารายใหม่ และเพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ธนาคารฯ มีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวม (Cost-to-Income Ratio) ลดลงโดยตลอดจากร้อยละ 49.9 ในปี 2563 เป็นร้อยละ 39.5 ในปี 2565
ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) นับเป็นธนาคารพาณิชย์ที่เสนอขายหุ้น IPO ในรอบ 10 ปี โดยมุ่งหวังว่าการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ครั้งนี้ นอกจากจะช่วยเสริมให้ฐานเงินทุนของธนาคารฯ มีความแข็งแกร่งมากขึ้นเพื่อเสริมศักยภาพในการเติบโตของสินเชื่อแล้ว ยังเป็นการเพิ่มช่องทางการระดมทุนที่หลากหลาย ภายใต้สภาวะทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น และมีส่วนช่วยเพิ่มสภาพคล่องและมูลค่าตลาดให้กับหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์รวมถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอีกด้วย” นายวิญญู กล่าวทิ้งท้าย