กรุงไทยปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้-เงินฝาก
“กรุงไทย”ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ ยืนหยัดดูแลกลุ่มเปราะบางและเอสเอ็มอี รับมือความท้าทายเศรษฐกิจ
ธนาคารกรุงไทย ปรับดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป ยืนหยัดดูแลลูกค้าทุกกลุ่ม เร่งปรับตัวรับมือความท้าทายเศรษฐกิจ ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางและลูกค้าเอสเอ็มอีอย่างต่อเนื่อง ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสูงสุด 0.35% ต่อปี และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุด 0.25% ต่อปี มีผล 13 เมษายน 2566
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า จากการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เป็น 1.75% มีผลทันทีในวันที่ 29 มีนาคม 2566 เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่คาดว่าจะปรับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงกลางปี 2566 ธนาคารได้พิจารณาอย่างรอบคอบถึงการส่งผ่านต้นทุนทางการเงินที่ปรับเพิ่มขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยให้ความสำคัญกับการดูแลช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่ม ทั้งลูกค้าผู้ฝากเงิน และลูกค้าสินเชื่อ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ยังอ่อนไหวต่อภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น และลูกค้าเอสเอ็มอี ให้สามารถปรับตัวได้อย่างราบรื่นและรับมือความท้าทายทางเศรษฐกิจ
ธนาคารปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสูงสุด 0.35% ต่อปี เพื่อส่งเสริมการออมให้ผู้ฝากเงินมีรายได้เพิ่มขึ้น ในภาวะที่ค่าครองชีพสูงขึ้น และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุด 0.25% ต่อปี โดยปรับอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) เพิ่มขึ้น 0.25% ต่อปี เป็น 6.60% ต่อปี ปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทวงเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) เพิ่มขึ้น 0.20% ต่อปี เป็น 7.07% ต่อปี และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้รายย่อย (MRR) 0.25% ต่อปี เป็น 7.12%ต่อปี มีผลตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2566 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ธนาคารตระหนักถึงสถานการณ์เศรษฐกิจในระยะข้างหน้าที่มีความไม่แน่นอน จึงสนับสนุนลูกค้าทุกกลุ่มปรับตัวอย่างต่อเนื่อง โดยยืนหยัดดูแลผู้ฝากเงินผ่านการออม เพื่อรับมือกับความท้าทายรอบด้าน และติดตามสถานการณ์ของลูกค้าทุกกลุ่มอย่างใกล้ชิด ซึ่งบางส่วนยังมีความอ่อนไหวต่อค่าครองชีพและภาระหนี้ที่สูงขึ้น พร้อมให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ผ่านมาตรการความช่วยเหลือแบบเฉพาะกลุ่ม เพื่อให้ลูกค้าได้รับความช่วยเหลือแบบตรงจุดและทันท่วงที และมาตรการช่วยเหลือพิเศษเพื่อแก้หนี้อย่างยั่งยืน สำหรับลูกค้าประเภทบุคคลและลูกค้าธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ ผ่านเครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย ทั้งลดอัตราดอกเบี้ย ลดค่างวดการชำระหนี้ ขยายระยะเวลาชำระหนี้เปลี่ยนประเภทหนี้ วงเงินกู้หมุนเวียน (Revolving Loan) เป็นวงเงินกู้แบบมีกำหนดระยะเวลา (Term Loan) ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และการเพิ่มสภาพคล่อง เป็นต้น โดยการพิจารณาลูกค้าแต่ละรายเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนด ซึ่งธนาคารจะเสนอแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้และความเสี่ยงของลูกค้า