ครม.เพิ่มทุน 4 พันล. หนุน EXIM BANK ขับเคลื่อนงานส่งออก

ครม.ไฟเขียวเพิ่มทุนอีกกว่า 4 พันล้านให้กับ EXIM BANK เดินหน้าขยายการดำเนินงาน ขับเคลื่อนการค้าและการลงทุนเพื่อการพัฒนาประเทศ เผย! นับเป็นการเพิ่มทุนครั้งแรกในรอบ 12 ปี คาดเม็ดเงินใหม่ดันยอดสินเชื่อโตเฉลี่ย 11% ต่อปีในอีก 5 ปีข้างหน้า แตะระดับ 2.1 แสนล้าน

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวถึงมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2564 ที่ผ่านมา ซึ่งเห็นชอบให้ กองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจเพิ่มทุน EXIM BANK จำนวน 4,198 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ว่า นับเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี ตั้งแต่การเพิ่มทุนล่าสุดเมื่อปี 2552 โดยทำให้ EXIM BANK มีทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นจากเดิม 12,800 ล้านบาท เป็น 16,998 ล้านบาท ส่งผลให้สามารถขยายธุรกิจสนับสนุนผู้ประกอบการไทยได้เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ การเพิ่มทุนครั้งนี้จะเป็นการอัดฉีดเงินให้ EXIM BANK เร่งเครื่อง “ซ่อม สร้าง เสริม” สนับสนุนผู้ประกอบการทุกระดับให้กลับมาทำการค้าการลงทุนได้อย่างเข้มแข็งอีกครั้ง รวมทั้งเป็นกลไกสำคัญที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัว โดยคาดว่า ยอดคงค้างสินเชื่อจะเติบโตเฉลี่ย 11% ต่อปีในอีก 5 ปีข้างหน้า ไปแตะระดับ 212,730 ล้านบาทในปี 2568 จากจำนวนยอดสินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นเดือน ก.ค. อยู่ที่ 140,600 ล้านบาท โดย EXIM BANK มุ่งจะขยายบริการทางการเงิน ดังต่อไปนี้
1) บริการสนับสนุนการพัฒนาประเทศ เพื่อส่งเสริมการลงทุนโดยเฉพาะในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) และ เขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zones: SEZs) ทั้งในโครงสร้างพื้นฐานและภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve และ Bio-Circular-Green Economy) ที่สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐและแนวโน้มโลก อันเป็นการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้สามารถผลิตและส่งออกสินค้า/บริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นตลอด Supply Chain

2) บริการสนับสนุนการส่งออกและการลงทุนไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะในตลาด CLMV และตลาดใหม่ (New Frontiers) ที่ EXIM BANK มีความเชี่ยวชาญและเป็นผู้นำ (Lead Bank) นำทัพนักลงทุนไทยไปรุกตลาดได้อย่างมั่นใจ ผ่านการสนับสนุนทางการเงินในรูปแบบที่หลากหลายทั้งสินเชื่อ ประกันการส่งออก และบริการอื่น ๆ ซึ่งจะกระตุ้นการส่งออกสินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องของ SMEs ในประเทศตามโมเดลการลงทุนนำการค้า (Investment-induced Trade) พร้อมกับการนำเข้าวัตถุดิบหรือเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการยกระดับภาคอุตสาหกรรมในประเทศ
3) บริการสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการส่งออกของ SMEs เพื่อให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและขยายการส่งออก มีบทบาทสำคัญในการเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของไทย รวมทั้งให้บริการทั้งทางการเงินและไม่ใช่การเงินเพื่อช่วยเหลือ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้สามารถประคับประคองธุรกิจหรือขยายธุรกิจไปยังตลาดที่ยังมีศักยภาพได้
“การเพิ่มทุนครั้งนี้ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ของ EXIM BANK อยู่ในระดับที่เหมาะสม สถานะทางการเงินของธนาคารมีความมั่นคงยิ่งขึ้น พร้อมรองรับการขยายสินเชื่อและช่วยเหลือผู้ประกอบการได้มากขึ้น ตามความมุ่งมั่นที่จะเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (Thailand Development Bank) ที่จะ ‘ซ่อม’ ภาคอุตสาหกรรมที่ประสบวิกฤตและฟื้นฟูธุรกิจที่ประสบปัญหา ‘สร้าง’ พื้นที่สำหรับผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยให้เติบโตตลอดทั้ง Supply Chain พร้อมสร้างอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และ ‘เสริม’ ศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยสู่ตลาดโลกอย่างมั่นคง เพื่อเป็นกลไกของภาครัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน” ดร.รักษ์ ระบุ.