EXIM BANK ผุด 2 มาตรการช่วยเหลือผู้ส่งออกไทย
EXIM BANK ขานรับ ธปท. ออก 2 มาตรการช่วยเหลือผู้ส่งออก “สินเชื่อฟื้นฟู – รับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้” เผย! ผลดำเนินการไตรมาสแรก ยอมรับพิษโควิดฯส่งผลกระทบแรง แต่ยอดสินเชื่อยังพุ่งกว่า 8 พันล้านบาท หรือโต 6.56% ดันปริมาณธุรกิจขยับถึงกว่า 4.2 หมื่นล้านบาท “ดร.รักษ์” ย้ำ! พร้อมหนุนธุรกิจไทย ในฐานะ “ธนาคารเพื่อการพัฒนาฯ – ศูนย์บริการครบวงจรฯแก่ SMEs”
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กก.ผจก. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า ธนาคารฯได้ออกมาตรการความช่วยเหลือ สอดรับกับมาตรการทางการเงินเพิ่มเติมของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 รวม 2 มาตรการ ดังนี้
1. มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) เป็นสินเชื่อหมุนเวียนสูงสุด 5 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 4.2% ต่อปี ทั้งนี้ ปีที่ 1-2 อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี
• ลูกค้าที่มีวงเงินสินเชื่อกับ EXIM BANK ไม่เกิน 500 ล้านบาท สามารถขอกู้เพิ่มได้ไม่เกินร้อยละ 30 ของวงเงินสินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 หรือ 28 กุมภาพันธ์ 2564 แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า แต่ต้องไม่เกิน 150 ล้านบาทต่อราย (รวมสินเชื่อ Soft Loan เดิมที่เคยได้รับตาม พ.ร.ก. ช่วยเหลือในปี 2563)
• ผู้ประกอบธุรกิจที่ยังไม่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินใด ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 สามารถขอกู้ได้ในวงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย (รวมทุกสถาบันการเงิน)
2. มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ (พักทรัพย์ พักหนี้)
โดยจะรับโอนทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันของลูกหนี้ปัจจุบันที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อนำมาชำระหนี้กับธนาคารฯเป็นการช่วยลดภาระต้นทุนทางการเงินชั่วคราว โดยไม่ถูกกดราคาทรัพย์สินและมีสิทธิ์ซื้อทรัพย์คืนได้ภายในระยะเวลา 3-5 ปีนับแต่วันที่รับโอน
ปัจจุบันมีลูกค้าของธนาคารฯสนใจขอรับมาตรการความช่วยเหลือดังกล่าวราว 940 ราย วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถแจ้งความจำนงขอรับมาตรการ หรือสอบถามได้ที่ EXIM HOTLINE เพื่อช่วยเหลือลูกค้าและผู้ประกอบการจากโควิด-19 โทร. 0 2037 6099
สำหรับ ผลการดำเนินงานของธนาคารในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2564 (มกราคม-มีนาคม 2564) นั้น ดร.รักษ์ ย้ำว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวไม่เต็มที่จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ธนาคารฯได้ขยายบทบาทสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในด้านการเงิน ทั้งสินเชื่อและประกัน และด้านที่ไม่ใช่การเงินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีสินเชื่อคงค้าง 134,412 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,276 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.56 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นสินเชื่อเพื่อการค้า 31,648 ล้านบาท และสินเชื่อเพื่อการลงทุน 102,764 ล้านบาท
ทั้งนี้ การให้สินเชื่อของธนาคารฯทำให้เกิดปริมาณธุรกิจ (Business Turnover) 42,246 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นปริมาณธุรกิจของ ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เท่ากับ 14,399 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 34.08
ด้าน การสนับสนุนการค้าและการลงทุนของไทยในต่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 ธนาคารฯมีวงเงินสนับสนุนแก่สินเชื่อโครงการระหว่างประเทศรวม 92,907 ล้านบาท โดยเป็นสินเชื่อคงค้างจำนวน 60,145 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,605 ล้านบาท หรือร้อยละ 16.69 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในจำนวนนี้ เป็นสินเชื่อคงค้างเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการที่ส่งออกและลงทุนในตลาดใหม่ (New Frontiers) ซึ่งรวมถึงกลุ่ม CLMV จำนวน 43,485 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,273 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.90 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยรุกตลาดใหม่ โดยเฉพาะเวียดนามที่มีเสถียรภาพและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง
ด้าน การให้บริการประกันการส่งออกและการลงทุน เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทย ท่ามกลางความเสี่ยงจากการได้รับชำระเงินล่าช้าหรือปฏิเสธการชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศ ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2564 ธนาคารฯมีปริมาณธุรกิจด้านการรับประกันการส่งออกและการลงทุนเท่ากับ 52,366 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 15,676 ล้านบาท หรือร้อยละ 42.73 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 ธนาคารฯ มีกำไรจากการดำเนินงานเท่ากับ 502 ล้านบาท แต่ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ EXIM BANK มีอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 ร้อยละ 4.19 โดยมี NPLs จำนวน 5,625 ล้านบาท และค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss) จำนวน 12,396 ล้านบาทคิดเป็นอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อ NPLs (Coverage Ratio) สูงถึงร้อยละ 220.36 ซึ่งเป็นระดับที่แข็งแกร่ง ทำให้ EXIM BANK มีกำไรสุทธิในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2564 เท่ากับ 92 ล้านบาท
“ในปี 2564 EXIM BANK จะทำหน้าที่เป็น ‘เครื่องยนต์รุ่นใหม่’ ช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยและภาคการส่งออกเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยขับเคลื่อนแบบ 2 เครื่องยนต์ (Twin Turbo) ได้แก่ การเป็น ‘ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย(Thailand Development Bank)’ เพื่อสร้างการลงทุนไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการเป็น ‘ศูนย์บริการครบวงจรเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศให้แก่ SMEs (One Stop Trading Facilitator for SMEs)’ เพื่อสร้างนักรบเศรษฐกิจไทย ซึ่งรวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์แนวโน้มใหม่ ๆ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ และดำเนินมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการท่ามกลางสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง” ดร.รักษ์ กล่าว.