ไม่ผ่านเกณฑ์ของบ กองทุนอนุรักษ์ฯกว่า 4,000 โครงการ
ปลัดพลังงาน เผย มีเพียง 1,035 โครงการผ่านหลักเกณฑ์ ของบกองทุนอนุรักษ์พลังงาน จากที่เสนอขอมากว่า 5,000 โครงการ เตรียมปรับหลักเกณฑ์ใหม่ ปี 64 เน้น จ้างงาน สร้างรายได้ ช่วย SME
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน แถลงผลการประชุมคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาอนุมัติโครงการที่ขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ประจำปีงบประมาณ 2563 จำนวน 1,035 โครงการ วงเงินกว่า 2,066 ล้านบาท จากที่เสนอขอมาทั้งสิ้น 5,155 โครงการ ตามกรอบวงเงินที่กำหนดไว้ 5,600 ล้านบาท
โดยแบ่งเป็น แผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน จำนวน 16 โครงการ กรอบวงเงินสนับสนุน 535 ล้านบาท ประกอบด้วย (1) กลุ่มงานตามกฎหมาย จำนวน 4 โครงการ (2) กลุ่มงานศึกษา ค้นคว้าวิจัย เพื่อการพัฒนาและส่งเสริม จำนวน 1 โครงการ (3) กลุ่มงานสื่อสาร และข้อมูล ข่าวสาร จำนวน 5 โครงการ (4) กลุ่มงานพัฒนาบุคลากร จำนวน 2 โครงการ และ (5) กลุ่มงานสนับสนุนลดต้นทุน ยกระดับคุณภาพชีวิต เพิ่มเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งแบ่งเป็นโครงการพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานราก นโยบายพลังงานเพื่อทุกคน (Energy for all) จำนวน 2 โครงการ ซึ่งสนับสนุนในรูปแบบเงินก้อน (Block grant) และโครงการทั่วไป จำนวน 2 โครงการ
แผนพลังงานทดแทน จำนวน 1,019 โครงการ กรอบวงเงินสนับสนุน 1,530 ล้านบาท ประกอบด้วย (1) กลุ่มงานศึกษา ค้นคว้าวิจัย เพื่อการพัฒนาและส่งเสริม จำนวน 1 โครงการ (2) กลุ่มงานสื่อสาร และข้อมูล ข่าวสาร จำนวน 4 โครงการ และ (3) กลุ่มงานสนับสนุนลดต้นทุน ยกระดับคุณภาพชีวิต เพิ่มเศรษฐกิจฐานรากและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งแบ่งเป็นโครงการ Energy for all จำนวน 41 โครงการ โดยสนับสนุนในรูปแบบ Block grant และโครงการทั่วไป ซึ่งมี 3 ประเภท คือ โครงการติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร จำนวน 968 โครงการ โครงการระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 1 โครงการ โครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับโรงเรียนในชนบท ประเภทไม่มีไฟฟ้า จำนวน 2 โครงการ และโครงการพระราชดำริ จำนวน 2 โครงการ
อย่างไรก็ตามโครงการที่ได้รับอนุมติ จะต้องลงนามจัดซื้อจัดจ้างให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 135 วันนับจากวันที่ 28 กันยายน 2563 หากไม่สามารถดำเนินการตามกำหนดให้ถือว่าโครงการเป็นอันยกเลิก
ส่วนสาเหตุที่โครงการส่วนใหญ่ไม่ได้รับการอนุมัติ เพราะ ไม่ผ่าน หลักเกณฑ์ 7 ข้อที่กำหนดไว้ ซึ่งงบปี 2564 ตามกรอบวงเงินสนับสนุน 10,000 ล้านบาท จะมีการปรับปรุงตามแนวทางที่ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน กำหนดให้เน้นการจ้างงาน สร้างรายได้ นักศึกษาจบใหม่ ระดับปริญญาตรี และอาชีวะ หรือนักศึกษาที่ไม่มีทุนการศึกษาต่อ เพราะได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 และช่วยเหลือ SME และจะหารือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ปรับรูปแบบ เกณฑ์เพื่อให้มหาวิทยาลัยสามารถมายื่นแข่งขันได้เช่นกัน
และในวันที่ 28 ส.ค.นี้จะมีการหารือร่วมกับ 4 หน่วยงานกระทรวงพลังงาน บมจ.ปตท.และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เพื่อเร่งจ้างงาน ตามนโยบายของนายสุพัฒนพงษ์ ที่ได้มอบหมายไว้