“ACE” รับซื้อ ใบอ้อย ฟางข้าว ราคาสูง ลด PM 2.5
ACE ประกาศรับซื้อเศษวัสดุทางการเกษตรไม่อั้น อาทิ ใบอ้อย ฟางข้าว ต้นข้าวโพด เปลือกข้าวโพด ซังข้างโพด เหง้ามัน ใบไม้แห้ง ราคาที่สูง ช่วยแก้วิกฤต PM2.5 และยังช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร
นางสาวจิรฐา ทรงเมตตา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ACE กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทย ประสบปัญหามลภาวะทางอากาศอย่างรุนแรงทั้งประเทศ จากฝุ่น PM 2.5 ซึ่งนอกจากจะส่งผลเสียต่อสุขภาพของคนไทยทุกคน ยังมีผลทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศลดลง และจะมีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในแหล่งรายได้หลักของประเทศในปัจจุบัน
ดังนั้น ACE จึงเปิดรับซื้อของเหลือใช้จากภาคเกษตรทุกประเภท ไม่จำกัดจำนวน อาทิ ใบอ้อย ฟางข้าว ต้นข้าวโพด เปลือกข้าวโพด ซังข้างโพด เหง้ามัน ใบไม้แห้ง ในราคาที่สูง เช่น ใบอ้อย ฟางข้าว 1,000 บาทต่อตัน เป็นต้น เพื่อลดการทำลายด้วยการเผาทิ้ง ทำให้เกิดฝุ่นควันพิษ และยังช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย
สำหรับเทคโนโลยีที่ ACE ใช้ในการแก้ไขปัญหา PM2.5 คือ เทคโนโลยี Electrostatic Precipitator (ESP) ซึ่งจะทำการยิงประจุไฟฟ้าใส่อากาศที่วิ่งผ่านเพื่อดักจับฝุ่น PM2.5 แต่วิธีนี้ไม่ได้ทำให้ดักจับแค่ฝุ่น PM2.5 ได้เท่านั้น ฝุ่นขนาดเล็กกว่า PM2.5 ก็จะถูกจับด้วยวิธีนี้เช่นกัน ซึ่งเครื่อง ESP มีประสิทธิภาพดักจับฝุ่นได้เกือบ 100% ซึ่งฝุ่นที่ถูกดักจับเหล่านี้จะถูกนำไปอัดก้อน และฝังกลบอย่างถูกหลักสุขอนามัยเพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่นถูกปล่อยออกไปในชั้นบรรยากาศ เรียกได้ว่านอกจากจะได้พลังงานแล้ว ยังคืนอากาศที่สะอาดให้กับพื้นที่ใกล้เคียงอีกด้วย
ด้าน นายธนะชัย บัณฑิตวรภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ACE กล่าวว่า เชื่อมั่นว่าการที่บริษัทฯ นำของเหลือจากการเกษตรในปริมาณปีละกว่า 1.5 ล้านตัน จากภาคการเกษตรที่เผาทิ้งมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้านั้น สามารถช่วยลดการเกิดฝุ่น PM2.5 ได้อย่างมาก บริษัทฯ จึงขอให้ทุกภาคส่วนของสังคมช่วยกันรณรงค์ให้เกษตรกรหยุดการเผาทำลายของเหลือจากการเกษตร และนำมาจำหน่ายให้กับกลุ่มบริษัทฯ หรือโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่มีการประกาศรับซื้อ
ปัจจุบัน ACE ได้รับซื้อเศษวัสดุการเกษตรจากเกษตรกร จำนวนรวมไม่น้อยกว่า 7 ล้านตัน ซึ่งมีส่วนช่วยลด PM2.5 ที่เกิดจากการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในที่โล่งเป็นจำนวนมาก หรือเทียบเท่าได้กับปริมาณ PM2.5 ที่เกิดจากการเผาฟางข้าว และตอซังข้าวในนาข้าวเนื้อที่กว่า 10.8 ล้านไร่