บางจากไตรมาสแรกปี66 รายได้พุ่งแตะ8หมื่นล้านบาท
กลุ่มบริษัทบางจากยอดขายโต 16% จากปีก่อนหน้า แตะ 80,000 ล้านบาท
กำลังกลั่นสูงสุดเป็นประวัติการณ์และธุรกิจต้นน้ำ OKEA ส่งมอบยอดขายสูงสุดกลุ่มบริษัทบางจาก รายงานผลประกอบการไตรมาสแรกปี 2566 มีรายได้จากการขายและให้บริการ 80,380 ล้านบาท EBITDA 10,992 ล้านบาท มีกำไรสำหรับงวดส่วนของบริษัทใหญ่ 2,741 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 1.91 บาท กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมันสร้างสถิติใหม่ด้วยกำลังการกลั่นกว่า 124,700 บาร์เรลต่อวัน ในขณะที่กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติและพัฒนาธุรกิจใหม่ โดย OKEA ASA ทำสถิติรายได้สูงสุดตั้งแต่เริ่มดำเนินกิจการมา เนื่องจากมีปริมาณการจำหน่ายมากกว่ากำลังการผลิตตามสัญญา จากการจำหน่าย 2 Cargoes จากแหล่งผลิต Draugen และรับรู้รายได้เต็มไตรมาสจากแหล่งผลิต Brage ที่โอนกิจการมาจาก Wintershall Dea พร้อมเดินหน้าลงทุนสร้างสมดุลระหว่างความมั่นคงด้านพลังงานกับการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ของปี 2566 ว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาสแรก ถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายและสะท้อนผลลัพธ์จากแนวทางการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทบางจากที่เน้นย้ำการเติบโตธุรกิจอย่างมีคุณภาพ โดยในไตรมาส 1 ปี 2566 กลุ่มบริษัทบางจากมีรายได้จากการขายและการให้บริการ 80,380 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 5 จากไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 คิดเป็น EBITDA รวม 10,992 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 58 จากไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 20 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และมีกำไรสำหรับงวดส่วนของบริษัทใหญ่ 2,741 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 จากไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 37 จากช่วงเดียวกันของปี 2565 คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 1.91 บาทผลการดำเนินงานแต่ละกลุ่มธุรกิจในไตรมาสแรกของปี 2566 มีดังนี้กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน มี EBITDA รวม 4,029 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 83 จากไตรมาสก่อน แต่ปรับลดลงร้อยละ 20 จากไตรมาสแรกปี 2565 โดยโรงกลั่นบางจากฯ ยังคงอัตรากำลังการผลิตเฉลี่ยในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ทำสถิติสูงสุดที่ 124.7 พันบาร์เรลต่อวัน โดยในไตรมาสนี้ รับรู้กำไรจากสัญญาซื้อขายน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันล่วงหน้า (รวมการวัดมูลค่ายุติธรรมตามมาตรฐานบัญชี) เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน เนื่องจาก Crack Spread ของผลิตภัณฑ์ที่ได้ทำสัญญาซื้อขายมีแนวโน้มปรับตัวลดลงส่วนค่าการกลั่นพื้นฐานปรับลดลงจาก 14.68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในไตรมาส 4 ปี 2565 มาอยู่ที่ 11.44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หรือลดลง 3.24 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สาเหตุหลักมาจาก Crack Spread ของผลิตภัณฑ์น้ำมันดีเซลปรับลดลงตามภาวะตลาดโลก ซึ่งน้ำมันดีเซลเป็นผลิตภัณฑ์ที่โรงกลั่นบางจากฯ ผลิตได้มากที่สุด และในไตรมาสนี้มีการรับรู้ Inventory Loss 4.41 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หรือเทียบเท่า 1,687 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลงในอัตราที่ต่ำกว่าไตรมาสก่อนกลุ่มธุรกิจการตลาด มี EBITDA รวม 737 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 จากไตรมาสก่อน แต่ปรับลดลงร้อยละ 34 จากไตรมาสแรกปี 2565 โดยในไตรมาสนี้ค่าการตลาดต่อหน่วยเพิ่มขึ้น จากการปรับค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงใหม่ที่เหมาะสมและการลดเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของน้ำมันดีเซลตามมติของกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารลดลงจากไตรมาสสุดท้ายของปีซึ่งจะเป็นช่วงที่มีค่าใช้จ่ายส่งเสริมการตลาด ทั้งนี้ ปริมาณการจำหน่ายรวมลดลงจากปัจจัยด้านฤดูกาลกลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้า มี EBITDA รวม 852 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 15 จากไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 72 จากไตรมาสแรกปี 2565 โดยในไตรมาสแรกปี 2566 ปริมาณการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่นและไทย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 และร้อยละ 4 จากไตรมาสก่อน ตามลำดับ) เป็นผลจากปัจจัยฤดูกาล เช่นเดียวกับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในไทยที่ผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 38 จากไตรมาสก่อนหน้าจากกำลังลมที่พัดผ่านมากขึ้น นอกจากนี้ มีการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าจากส่วนแบ่งกำไรจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติในประเทศสหรัฐอเมริกาที่เริ่มรับรู้ส่วนแบ่งกำไรในเดือนมีนาคม 2566 อย่างไรก็ดี โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในสปป. ลาว มีการหยุดการผลิตไฟฟ้าในไตรมาสนี้ เพื่อเตรียมขายไฟฟ้าไปยังการไฟฟ้าแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามกลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ มี EBITDA รวม 107 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 26 จากไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 69 จากไตรมาสแรกปี 2565 โดยธุรกิจเอทานอลทมีรายได้จากการขายลดลง จากปริมาณการขายปรับลดลง ตามแผนบริหารการขาย อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยหนุนจากต้นทุนในธุรกิจผลิตและจำหน่ายไบโอดีเซล (B100) ที่ราคาวัตถุดิบ ต้นทุนพลังงาน และสารเคมีปรับลดลง
กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติและพัฒนาธุรกิจใหม่ มี EBITDA รวม 5,414 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 44 จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 27 จากไตรมาสแรกปี 2565 จากปริมาณจำหน่ายของ OKEA ASA เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมากกว่าร้อยละ 100 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากมีปริมาณการจำหน่ายมากกว่ากำลังการผลิตตามสัญญาจากการจำหน่าย 2 Cargoes จากแหล่งผลิต Draugen และรับรู้รายได้เต็มไตรมาสจากแหล่งผลิต Brage ที่โอนกิจการมาจาก Wintershall Dea ส่งผลให้ไตรมาสนี้ OKEA ทำสถิติรายได้สูงสุด และยังแสวงหาโอกาสในการลงทุนขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด OKEA ได้มีการลงนามสัญญาซื้อขายแหล่งปิโตรเลียม Statfjord บนไหล่ทวีปนอร์เวย์(NorwegianContinental Shelf – NCS) (ร้อยละ 28) ทำให้กำลังการผลิตรวมปรับเพิ่มขึ้นเป็น 40,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันจากระดับ 20,000-25,000 บาร์เรล ซึ่งคาดว่าธุรกรรมการซื้อขายจะสำเร็จลุล่วงในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2566
นายชัยวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “สำหรับไตรมาส 2 ของปีนี้ ราคาน้ำมันดิบจะยังคงได้รับแรงกดดันจากความกังวลเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยเฉพาะในยุโรป แต่ยังมีปัจจัยความกังวลอุปทานตึงตัวที่เพิ่มขึ้น หลังจากกลุ่มโอเปกพลัส (OPEC+) ตัดสินใจปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมัน นอกจากนี้ ค่าการกลั่นของโรงกลั่นประเภท Cracking ที่สิงคโปร์มีแนวโน้มปรับลดลงจากไตรมาสแรก อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ด้านราคาพลังงานที่ยังผันผวน รวมถึงความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่อาจส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำมัน บริษัทฯ จึงยังคงติดตามราคาพลังงานอย่างใกล้ชิด ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการและเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตและการทำงาน
ตลอดระยะเวลาการดำเนินธุรกิจ บางจากฯ ให้ความสำคัญกับการสร้างการเติบโต ควบคู่กับการรักษาสมดุลระหว่างการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ด้วยการยึดมั่นการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืนในทุกมิติในด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล ได้รับการยอมรับในความเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนในระดับสากล สะท้อนจากการได้รับการประเมิน MSCI ESG Ratings ที่ระดับ AA ซึ่งเป็นระดับสูงสุดขององค์กรไทยในกลุ่มธุรกิจเดียวกันต่อเนื่อง 5 ปีซ้อน และการได้รับการประเมินความยั่งยืนจาก S&P Global องค์กรผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนเกี่ยวกับความยั่งยืน ซึ่งเป็นผู้จัดทำการประเมินความยั่งยืนดัชนี Dow Jones Sustainability Indices หรือ DJSI ประจำปี 2565 โดยมีคะแนนสูงเป็นอันดับ 3 ในกลุ่มอุตสาหกรรม Oil & Gas Refining and Marketing ได้รับคะแนนสูงสุด Best Score ใน 11 ด้านจาก 21 ด้านของการประเมิน
ทั้งนี้ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบางจากฯ ได้อนุมัติการเข้าซื้อหุ้นบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) นับเป็นความคืบหน้าสำคัญของการเข้าทำธุรกรรม โดยเงื่อนไขบังคับก่อน (CP) 2 ใน 3 ข้อ ได้เสร็จสิ้นเรียบร้อย การดำเนินการตามกระบวนการต่างๆ เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เมื่อธุรกรรมแล้วเสร็จจะเป็นการต่อยอดการเติบโตธุรกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของกลุ่มบริษัทบางจากควบคู่กับสร้างประโยชน์ต่อทั้งผู้บริโภค ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ตามนโยบายการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นการบูรณาการด้าน ESG -สิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) บรรษัทภิบาลและเศรษฐกิจ (Governance & Economic) อย่างสมดุล สร้างการเติบโตต่อเนื่องเพื่อความยั่งยืนของทุกภาคส่วน”