จีนลงทุนพลังงานถ่านหินนอกประเทศมากสุด
ทั่วโลกตั้งเป้าลดปริมาณมลพิษในอากาศจากการใช้พลังงานถ่านหินมากเกินไป โดยตอนนี้ท่าทีของจีนคือพยายามที่จะแก้ปัญหาสภาพแวดล้อมให้มากที่สุด หลังสหรัฐฯถอนตัวจากความตกลงปารีส
อย่างไรก็ตาม นอกพรมแดนประเทศ จีนกลับกลายเป็นนักลงทุนในพลังงานถ่านหินรายใหญ่ที่สุดในโลก
“ การลงทุนของธนาคารและบริษัทของจีนในพลังงานถ่านหินในต่างประเทศเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดความกังวล เพราะจะยิ่งเป็นการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่ทำให้โลกร้อนมากยิ่งขึ้น” หวงเหว่ย นักรณรงค์ด้านสภาพอากาศและพลังงานขององค์กรกรีนพีซเอเชียตะวันออกให้ความเห็น
สถาบันการเงินของจีนเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดในโรงไฟฟ้าถ่านหินนอกประเทศ โดยอัดฉีดเงินในโครงการพลังงานถ่านหินมากถึง 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 470,400 ล้านบาท จากปี 2556 – 2559 ผ่านกองทุนพัฒนาในระดับนานาชาติ อ้างอิงจากข้อมูลของสมาพันธ์อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ไม่แสวงหาผลกำไร นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่อยู่ในระหว่างการนำเสนออีก มูลค่า 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 407,680 ล้านบาท
ยังไม่มีข้อมูลจากสำนักงานพลังงานสากลที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า มีการชะลอตัวลงด้านการลงทุนในพลังงานถ่านหินทั่วโลก
สิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดความกังวลคือ Belt and Road Initiative ซึ่งเป็นนโยบายเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนขนาดใหญ่ของจีน โดยจีนตั้งเป้าจะให้จีนเป็นศูนย์กลางที่จะแผ่ขยายอิทธิพลด้านเศรษฐกิจและการเมืองออกไปในหลายพื้นที่
โดยหวงชี้ว่า การลงทุนด้านถ่านหินมาในหลายรูปแบบ ธนาคารและบริษัทของจีนจะจัดหาการสนับสนุนให้หมดทั้งด้านการเงิน การก่อสร้างและอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือ อย่างไรก็ตาม จีนยังคงลงทุนและส่งเสริมพลังงานทดแทน เช่น พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ควบคู่ไปด้วย
สิ้นปี 2559 มีรายงานว่า บริษัทและธนาคารของจีนมีความเกี่ยวข้องในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินถึง 240 แห่ง ใน 25 ประเทศจาก 65 ประเทศที่ให้ความร่วมมือกับแนวนโยบาย Belt and Road อ้างอิงจากงานวิจัยที่เผยแพร่เมื่อเดือนพ.ค.ปี 2560 โดยสถาบันสิ่งแวดล้อมทั่วโลกที่มีสำนักงานอยู่ในกรุงปักกิ่ง
ทั้งนี้ จีนผลักดันให้พลังงานถ่านหินอยู่ห่างไกลจากประเทศ มุ่งเน้นการตัดลดกำลังการผลิตถ่านหินในประเทศ เพื่อเปลี่ยนผ่านไปเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจที่พึ่งพาการบริโภคและบริการ โดยพรรคคอมมิวนิสต์ของจีนขับเคลื่อนนโยบายของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงที่จะผลักดันให้อากาศในเมืองใหญ่มีคุณภาพที่ดี ไม่ได้รับผลกระทบจากโรงงานผลิตเหล็ก หรือโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่
สำนักข่าวซินหัวของจีนรายงานว่า จีนประสบผลสำเร็จในการลดปริมาณคาร์บอนในอากาศได้เร็วกว่าที่ตั้งเป้าไว้เดิมคือปี 2563 ถึง 3 ปี โดยจีน
อ้างว่า สามารถลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เกือบ 50% ในปี 2560 เมื่อเทียบกับปี 2548
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่ามีอีก 2 ประเทศที่เป็นนักลงทุนพลังงานถ่านหินนอกประเทศตัวเองมากที่สุดคือ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ โดยญี่ปุ่นลงทุนไปถึง 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจากปี 2556 – 2559 และอยู่ในระหว่างการเสนอโครงการอีก 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่เกาหลีใต้ให้การสนับสนุนทางการเงินกับโครงการพลังงานถ่านหินนอกประเทศถึง 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา.