เกมกบเดินทางดังระเบิดในจีน
วิดีโอเกมที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายและมีเนื้อหาเกี่ยวกับกบนักเดินทางสำหรับเล่นบนโทรศัพท์มือถือ กลายเป็นที่นิยมอย่างมากในจีน แม้ว่าตัวเกมจะมีเพียงแค่ภาษาญี่ปุ่นเท่านั้น
เกมดังกล่าวมีชื่อว่า ‘ทาบิคาเอรุ : กบเดินทาง’ โดยตัวเอกของเกมนี้เป็นกบที่ออกเดินทางไปทั่วประเทศญี่ปุ่น ผู้เล่นสามารถเก็บใบโคลฟเวอร์ที่บานอยู่ในสวนของกบตัวนี้ เพื่อจะนำมาใช้ซื้ออุปกรณ์สำหรับการเดินทางให้กบซึ่งเป็นตัวละครเอก
หลังจากนั้น ตัวละครกบจะให้ของที่ระลึกและรูปถ่ายจากการเดินทางกับผู้เล่นเป็นของตอบแทน สำหรับผู้เล่นจะไม่สามารถควบคุมได้ว่าจะให้กบตัวนี้เดินทางไปที่ไหน
ในสัปดาห์ก่อน มีข่าวคราวเกี่ยวกับเกมดังกล่าวที่กลายเป็นกระแสความนิยมในหมู่ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในจีนเป็นครั้งแรก ทำให้ความนิยมของเกมกบเดินทางนั้นไม่มีท่าทีจะลดลงเลย นับตั้งแต่ขึ้นเป็นเกมอันดับ 1 ที่มียอดดาวน์โหลดสูงสุดจากแอปสโตร์ของแอปเปิลในจีน
บริษัทฮิต-พอยต์ ผู้พัฒนาเกมซึ่งอยู่เบื้องหลังเกมที่กำลังเป็นกระแสในจีน ก่อนหน้านี้เคยผลิตเกมที่ทำชื่อเสียงไปทั่วโลกในเกมสะสมแมวหรือ ‘เนโกะ อัตสึเมะ’
สื่อท้องถิ่นต้องการทราบสาเหตุที่เกมกบเดินทางได้รับความนิยมในกลุ่มผู้ใช้งานในจีน แม้ตัวเกมเองจะมีเพียงภาษาญี่ปุ่นเท่านั้น จึงได้ไปสอบถามความเห็นจากกลุ่มผู้เล่นในจีนจนทราบว่า ธรรมชาติของเกมนี้ที่มีความเชื่องช้าเป็นจุดดึงดูดใจที่สุดของเกม
ตัวเกมนี้กลายเป็นที่นิยมเพราะเทรนด์เกมของวัยรุ่นชาวจีนที่ขวนขวายหากิจกรรม ‘แบบเซน’ ทางสื่อไชน่าเดลีได้เสริมอีกว่า เหล่าผู้เล่นเกมในขณะนี้มักนิยมเกมแนว ‘พุทธ’
แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะตื่นเต้นกับเกมกบเดินทาง ในสัปดาห์ก่อนสำนักข่าวของรัฐบาลอย่างพีเพิล เดลี โพสต์บนเว็บไซต์เว่ยป๋อ โดยออกความเห็นว่าผู้คนควรให้หันมาเพิ่มความสำคัญให้ตนเองก่อน และควรหลีกเลี่ยงการเป็นวัยรุ่นเลี้ยงกบในเกม ที่ไม่เข้าหาสังคมจนเกิดความโดดเดี่ยว
ทางสำนักพิมพ์เซาต์ ไชนา มอร์นิง โพสต์รายงานว่า เนื่องจากความนิยมอันล้นหลามของเกมกบเดินทาง ทำให้แอปเปิลจำเป็นต้องลบเกมที่คล้ายกับว่าจะปลอมแปลงเกมดังกล่าวออกมาในเวอร์ชั่นภาษาจีน
ตัวเกมที่ทำออกมาเลียนแบบมีความคล้ายคลึงกับตัวเกมต้นแบบและมีการพัฒนาโดยซง หยาง ตัวเกมมีราคา 30 หยวน หรือราว 149 บาท
ในขณะที่ทางฮิต-พอยต์ยังไม่มีการออกมาตอบโต้จากการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาเกมในภาษาอื่น ๆ หรือไม่ แต่ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2558 ทางบริษัทได้ผลิตเกม เนโกะ อัตสึเมะ ออกมาในรูปแบบภาษาอังกฤษเช่นกัน