อุตฯการเกษตรไทย เติบใหญ่แค่ไหนในตลาดจีน?!
ในขณะที่ตัวเลขส่งออกของไทยในปีนี้ ถูกคาดการณ์ว่าจะติดลบ 8-10% แรงซื้อในประเทศก็ยังอยู่ในระดับต่ำ เศรษฐกิจไทยดูแล้วย่ำแย่ มืดมน แต่ทว่ายังมีแสงสว่างให้เดินต่อ…
เพราะหลังจากจีนผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองจากสถานการณ์โควิด-19 ภาคการผลิตและภาคธุรกิจของจีน เริ่มกลับมาเปิดดำเนินการ ทำให้ความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภค และวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น สอดคล้องกับสถิติส่งออกของไทยไปจีนในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค.-พ.ค. 2563) มีมูลค่า 12,221 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562
สินค้าไทยหลายรายการมียอดการส่งออกไปจีนขยายตัวอย่างน่าพอใจ…
โดยเฉพะกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร เช่น ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง มูลค่าส่งออก 1,391 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 67 ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง มูลค่าส่งออก 147 ล้าน เหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 54 และกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง มูลค่าส่งออก 65 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 35 เครื่องดื่ม มูลค่าส่งออก 62 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 11
ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง ส่งออกมูลค่า 1,275 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 24 เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ส่งออกมูลค่า 912 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 29 รถยนต์และส่วนประกอบ ส่งออกมูลค่า 541 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 164 ทองแดงและของทำด้วยทองแดง ส่งออกมูลค่า 274 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 94 แผง สวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า ส่งออกมูลค่า 153 ล้านเหรียญ สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 18 รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ส่งออก มูลค่า 133 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 261 เป็นต้น
ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่ข้างต้น ได้แต้มต่อการลดเลิกภาษีนำเข้าจาก เอฟทีเอ อาเซียน-จีน หรือ ACFTA ที่มีผลบังคับตั้งแต่ปี 2548
ส่งผลให้จีนลดเลิกภาษีนำเข้าให้กับสินค้าของไทยมากกว่าร้อยละ 90 ของรายการสินค้าทั้งหมด (ยกเว้นสินค้าอ่อนไหวบางรายการ เช่น ข้าว ข้าวโพด กาแฟ ใบยาสูบ ขนสัตว์ ฝ้าย แป้งข้าวเจ้า สับปะรดแปรรูป เป็นต้น) โดยเฉพาะสินค้า ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง เครื่องดื่ม คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ทองแดง แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าในจีนแล้วทุกรายการสินค้า
ส่วนผลิตภัณฑ์ยางส่วนใหญ่ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าทั้งหมดแล้วเช่นกัน ยกเว้นเพียงยางไม่ผสมในลักษณะขั้นปฐมที่เก็บภาษีที่ในอัตราร้อยละ 5 ในขณะที่รถยนต์และส่วนประกอบจีนก็ทยอยลดภาษีลงให้ไทยในอัตราภาษีนำเข้าระหว่างร้อยละ 0-25
โดยในปี 2562 พบว่า มูลค่าส่งออกของไทยไปจีนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 310 จากมูลค่า 7,113 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีผู้ประกอบการ ส่งออกสินค้าด้วยเอฟทีเออาเซียน-จีน ในปี 2562 มีอัตราสูงถึงร้อยละ 90 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ได้สิทธิจากเอฟทีเอ
นอกจากนี้ ความตกลงฉบับนี้ ยังทำให้ไทยสามารถนำเข้าวัตถุดิบจากจีน อาทิ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ วัตถุดิบจำพวกเคมี เหล็ก ผลิตภัณฑ์โลหะ ได้ในราคาที่ถูกลง ทำให้ต้นทุนการผลิตของไทยลดลง และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศของไทยอีกด้วย
ปัจจุบันไทยมีเอฟทีเออยู่ 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 9 ประเทศ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เปรู ชิลี และฮ่องกง ซึ่งประเทศคู่ค้าเหล่านี้ได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าส่วนใหญ่จากไทยแล้ว และส่งผลให้ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ไทยขึ้นแท่นเป็นผู้ส่งออกสินค้าสำคัญ ติดอันดับ 10 ของโลก เช่น อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ทุเรียนสด ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และขนมขบเคี้ยวจากแป้งข้าว เป็นต้น
ดังนั้นผู้ประกอบการจึงควรใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้าง และ ขยายตลาดส่งออกสินค้าให้เต็มที เพราะนี้คือโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการไทย…