“บีโอไอ” ไฟเขียวมาตราการภาษีอีอีซี อีก 1 ปี
‘บอร์ดบีโอไอ’ เคาะต่ออายุส่งเสริมการลงทุน ในอีอีซีอีก 1 ปี ตั้งเป้าดันลงทุน 5 แสนล้าน
นโยบายการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยให้สิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุนกับเอกชนทั้งในและต่างประเทศสูงสุดตามกฎหมาย ถือว่าเป็นกลไกสำคัญที่จูงใจให้เกิดการลงทุนในพื้นที่อีอีซีในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาไม่ต่ำกว่าปีละ 3 แสนล้านบาท โดยสิทธิประโยชน์ที่ภาคเอกชนจะได้รับ เช่น การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 – 10 ปี ขึ้นกับประเภทอุตสาหกรรม รวมทั้งหากเป็นโครงการที่ตั้งอยู่ในเขตเฉพาะอย่างเขตส่งเสริมนวัตกรรมอีอีซี (EECi) และ เขตส่งเสริมดิจิทัลในอีอีซี (EECd) จะได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมอีก 1 ปี โดยสิทธิประโยชน์ที่รัฐบาลได้ให้กับนักลงทุนในพื้นที่อีอีซีจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธ.ค.2564 นี้
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2564 ได้เห็นชอบตามที่บีโอไอเสนอให้ขยายระยะเวลามาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซีจากเดิมที่จะสิ้นสุดในวันที่31 ธ.ค.2564 ออกไปเป็นสิ้นสุดเวลาการส่งเสริมการลงทุนในวันสุดท้ายของปี 2565 หรือขยายระยะเวลาการส่งเสริมการลงทุนออกไปอีก 1 ปี
โดยโครงการที่จะขอสิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุนจะครอบคลุมการลงทุนในพื้นที่อีอีซีทุกประเภท โดยสามารถขอรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากหลักเกณฑ์พื้นฐานได้ใน 2 กรณี คือ เกณฑ์ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และเกณฑ์ที่ตั้ง โดยสามารถเลือกดำเนินการทั้งสองเกณฑ์ควบคู่กันเพื่อรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมสูงสุด หรือเลือกเกณฑ์ใดเกณฑ์หนึ่งก็ได้เพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์สูงสุด
อย่างไรก็ตามการขยายสิทธิ์ในการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซีออกไปอีก 1 ปี จะไม่รวมพื้นที่ในเขตส่งเสริมเฉพาะ EECi EECd เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษการแพทย์ครบวงจร (EECmd) เขตส่งเสริมการแพทย์จีโนมิกส์ (EECg) ซึ่งในเขตส่งเสริมพิเศษเหล่านี้ไม่กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดในการขอส่งเสริมการลงทุน
นางสาวดวงใจ กล่าวว่าการขยายระยะเวลาในการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซีออกไปอีก 1 ปีที่ให้มีการขอส่งเสริมการลงทุนได้จนถึงสิ้นปี 2565 เพื่อรักษาระดับการลงทุนของประเทศ โดยคาดว่าจะมีการขอส่งเสริมการลงทุนในปี 2565 ไม่น้อยกว่า 5 แสนล้านบาท ใกล้เคียงกับในปี 2564 ที่มีการลงทุนประมาณ 6 แสนล้านบาท โดยเป็นการลงทุนจริงในปี 2564 ประมาณ 4 แสนล้านบาท โดยการลงทุน 4 แสนล้านบาทในปี 2564 เป็นการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ 69 โครงการ วงเงินรวมประมาณ 2.9 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ซึ่งมาตรการนี้จะช่วยส่งเสริมการลงทุนในอุตสากหกรรมเป้าหมายในอีอีซีในสาขาสำคัญเช่นการแพทย์ อิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องด้วย