EEC เดินถูกทาง Medical Hub เกิดแน่ 30 บาท ได้ใช้ด้วย
คณิศ ย้ำชัด EEC เดินมาถูกทาง มุ่งสู่ Medical Hub โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ต้องอยู่ในระบบสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน
พื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ หรือ อีอีซี นอกจากจะมุ่งส่งเสริมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น การพัฒนาภาคอุตสาหกรรม การศึกษา การท่องเที่ยว และสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีแผนยกระดับให้พื้นที่ อีอีซี ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางของระบบสุขภาพแบบครบวงจร
ด้วยการปักหมุดให้ ศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร ธรรมศาสตร์ (พัทยา) บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา ตำบลโป่ง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี สามารถรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษการแพทย์และสุขภาพครบวงจร และกิจการอื่นที่เกี่ยวข้อง ที่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษการแพทย์และสุขภาพครบวงจร
ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.)หรือ EEC บอกว่า ประเทศไทยมีศักยภาพมากในการเป็น Medical Hub ซึ่ง อีอีซี มองเรื่องสาธารณสุขเป็น 3 ระดับ คือ
ระดับแรก เรื่องสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน คือ โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค อีอีซีทำเรื่องนี้ บางครั้งระบบสาธารณสุขของภาครัฐไม่เพียงพอก็ต้องดึงเอกชนเข้ามาช่วย เพราะฉะนั้นสาธารณสุขขั้นพื้นฐานต้องแน่นพอ เพราะเป็นประโยชน์มาก และต้องมี อสม.( อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) ช่วยดูแลประชาชนในพื้นที่ เป็นต้น
ระดับ 2 นำเอกชนกับรัฐบาลเข้ามาทำงานด้วยกัน หากโรงพยาบาลรัฐไม่พอก็ให้เอกชนเข้าไปลงทุน ซึ่งตอนนี้มีโครงการเข้ามาแล้วที่ปลวกแดง เพราะมีแรงงานจากหลายพื้นที่เข้ามาทำงานในอีอีซีมากขึ้น โรงพยายาลรัฐที่มีอยู่ในอนาคตอาจจะรองรับไม่เพียงพอ ฉะนั้นต้องให้เอกชนเข้ามาช่วยลงทุน
ระดับ 3 เป็นเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อมุ่งสู่การเป็น Medical Hub มั่นใจว่าจะต้องเกิดอย่างแน่นอน ขณะนี้ได้ทำไปแล้วกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร ธรรมศาสตร์ (พัทยา) หรือ EECmd พื้นที่ประมาณ 566 ไร่ บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา เพื่อสู่การเป็นศูนย์กลางของระบบสุขภาพแบบครบวงจร รองรับการก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย (Aging Society) ในอนาคต
ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ได้อนุมัติให้ขยายพื้นที่เพิ่ม 18.68 ไร่ จากเดิมมีพื้นที่ 566 ไร่เป็นพื้นที่รวมประมาณ 585 ไร่ เงินลงทุนประมาณ 8,000 ล้านบาท โดย มีแผนงานที่จะเปิดรับการลงทุนของภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องและขับเคลื่อนอย่างเต็มรูปแบบอีกด้วย
“ อีอีซี ได้ร่วมกับ ธรรมศาสตร์ ทำ Digital Hospital ระบบการรักษา จะทราบได้เลยว่า ผู้ป่วยมีความเสี่ยงเป็นโรคอะไร อยู่ที่ไหน โรงพยาบาลก็จะมี Smart Call แจ้งเตือน สามารถเข้าไปดูแลได้ถึงที่ สามารถติดตามภาวะสุขภาพได้แบบตลอดเวลา รวมทั้งการผ่าตัดทางไกล ซึ่ง ที่ ศิริราชก็ได้เริ่มทำแล้ว”
ดร.คณิศ ยังบอกอีกว่า เรื่องการรักษาพยาบาลสมัยใหม่ ที่ อีอีซีกำลังดำเนินการอยู่ คือ โครงการพัฒนาศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ อยู่ระหว่างหาผู้ร่วมทุน ทำโครงการทดสอบตัวอย่างยีน คนไทย 50,000 คน เพื่อนำมาสร้างห้องสมุดดีเอ็นเอ ตอนนี้มีเทคโนโลยี 2 บริษัท เป็น จีน และอเมริกา กำลังแข่งกันอยู่ ถ้าได้ตัวอย่างนี้มาก็จะสามารถพัฒนา โรงพยาบาล พัฒนา เรื่องเกี่ยวกับยา อุปกรณ์การรักษาพยาบาลได้ในอนาคต เรื่องนี้ เกิดแน่ๆ เพราะอีอีซีเดินมาถูกทางแล้ว
“กระบวนการนี้ หากแม่มีได้สิทธิ์ 30 บาท ก็สามารถเขามาตรวจเลือดของตัวเอง และของลูก และเก็บเป็นข้อมูลไว้ได้ ต่อไปเราก็จะได้รู้ว่า ครอบครัวนี้ ตระกูลนี้ มีโรคทางพันธุกรรมอะไร จะได้ดูแลรักษากันตั้งแต่เด็ก ซึ่งเป็นการรักษาแบบใหม่ที่อยากให้เข้าไปอยู่ในการรักษาพยาบาลขึ้นพื้นฐานของคนไทยในอนาคต” ดร.คณิศ กล่าว