ข่าวเด่น เย็นนี้ 11 มิ.ย.2567
ข่าวเด่น เย็นนี้ ระหว่างวันที่ 12-18 มิ.ย. 2567 จังหวัดศรีสะเกษมีกำหนดจัดงาน “เทศกาลทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ปี 2567” ณ สนามหน้าศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ
เรื่องที่ 4,505 ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทยและโฆษกกระทรวงมหาดไทย เชิญชวนประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมงาน ซึ่งภายในงานจะได้พบกับกิจกรรมมากมาย อาทิ การออกร้านของเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนภูเขาไฟจากอำเภอต่างๆ และยังมีผลไม้ ผลผลิตทางการเกษตรจากสวนเกษตรกรผู้ผลิตโดยตรง สินค้าวิสาหกิจชุมชน สินค้า OTOP และผลิตภัณฑ์ของ Young Smart Farmer
ส่วนผู้สนใจจะทำธุรกิจกับเกษตรกรภายในงานได้จัดพื้นที่สำหรับการจับคู่ทางธุรกิจระหว่างเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการในจังหวัดศรีสะเกษกับผู้ประกอบการด้วย และภายในงานยังมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน และการแสดงจากศิลปินชื่อดังตลอดงาน 7 วันด้วย
เทศกาลทุเรียนภูเขาไฟเป็นงานที่จังหวัดศรีเกษจัดต่อเนื่องมาหลายปี เพื่อสร้างโอกาสให้เกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนได้ขายสินค้าทั้งทางหน้าร้านและแบบออนไลน์ เปิดพื้นที่ในการเจรจาจับคู่ธุรกิจกับผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชุมชน และเป็นโอกาสในการส่งเสริมการท่องเที่ยวท้องถิ่น เนื่องจากในงานมีกิจกรรมโปรโมทสถานที่ท่องเที่ยว การแสดงศิลปะวัฒนธรรมเฉพาะท้องถิ่น แปลงทุนวัฒนธรรมสู่การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ
ไตรศุลี บอกว่า ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยคุณลักษณะเฉพาะคือเนื้อทุเรียนแห้ง นุ่มเหนียว เส้นใยละเอียด มีกลิ่นหอมเฉพาะ ไม่ฉุนมาก ซึ่งตรงกับความต้องการของผู้บริโภคทุเรียนทั้งภายในและต่างประเทศ ซึ่งเอกลักษณ์เฉพาะเหล่านี้เกิดจากการปลูกในพื้นที่ภูเขาไฟโบราณแถบเทือกเขาพนมดงรักที่คุณสมบัติของดินให้ธาตุอาหารที่จำเป็นต่อพืชในปริมาณสูง สภาพภูมิอากาศของจังหวัดที่เหมาะสม
โดย ปัจจุบันจังหวัดศรีสะเกษ มีพื้นที่ปลูกทุเรียนทั้งหมด 18,830 ไร่ เกษตรกร 2,782 ครัวเรือน พื้นที่ปลูกหลักอยู่ใน 3 อำเภอ ได้แก่ อ.กันทรลักษ์ 11,027 ไร่ อ.ขุนหาญ 4,522 ไร่ และ อ.ศรีรัตนะ 2,238 ไร่ ส่วนที่เหลือยู่ในอำเภออื่นๆ เช่น อ.ขุขันธุ์ และ อ.ภูสิงห์ ในจำนวนนี้เป็นเกษตรกรที่ได้รับมาตรฐาน GAP แล้ว 983 ราย พื้นที่ปลูกรวม 6,525.5 ไร่ และได้รับใบอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ GI (สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์) แล้ว 447 ราย พื้นที่ปลูกรวม 2,596.25 ไร่
เรื่องที่ 4,506 เวลานี้ราคาน้ำมันดีเซลกระโดดขึ้นไปแตะที่ราคา 32.94 บาทต่อลิตร หรือเรียกแบบกลมๆก็ประมาณ 33 บาทต่อลิตรตามที่รัฐบาลกำหนดเพดานเอาไว้ ซึ่งราคาระดับดังกล่าวนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อต้นทุนด้านต่างๆมากมาย
แน่นอนว่าภาคขนส่งเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่ได้รับผลกระทบไปแบบเต็มๆ จนล่าสุด “อภิชาติ ไพรรุ่งเรือง” ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ต้องยกพลนำสมาชิกผู้ประกอบการขนส่ง 12 สมาคม และภาคประชาชนกว่า 100 คน บุกทำเนียบรัฐบาล
เพื่อยื่นหนังยื่นหนังสือต่อรัฐบาลเป็นครั้งที่ 4 โดยมีข้อเรียกร้อง 4 ข้อ ประกอบด้วย ตรึงราคาน้ำมันดีเซล 30 บาทต่อลิตร ,แก้ปัญหาโครงสร้างราคาพลังงาน ,ลดภาษีสรรพสามิต และนำน้ำมันปาล์มออกจากระบบ
แต่ประเด็นที่สำคัญเลยก็คือจะให้เวลารัฐบาล 10 วัน เพื่อดึงราคาน้ำมันดีเซลให้ลงมาที่ 30 บาทต่อลิตร ไม่เช่นนั้น จะปรับค่าขนส่งขึ้น 9% หากลูกค้าที่ใช้บริการสู้ราคาไม่ไหวก็คงต้องหยุดวิ่งรถกัน
ผลกระทบเริ่มลุกลามไปเป็นทอดๆแล้วเวลานี้ ไม่รู้ว่าพี่ตุ๋ย “พีรพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ผู้ที่ลั่นวาจาไว้ว่าจะปรับโครงสร้างพลังงานจะว่ายังไงนะขอรับเจ้านาย
เรื่องที่ 4,507 ต้องจับตาให้ดี วันที่ 11 และ 12 มิ.ย.นี้ FOMC จะมีการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่หลายฝ่ายให้น้ำหนักว่า FOMC คงไม่ลดอัตราดอกเบี้ยอย่างแน่นอน หลังจาก ธนาคารกลางยุโปร หรือ ECB ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ไปก่อนหน้า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุนคาดว่า ระยะเวลาเหลือของปีนี้ FOMC มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้ง 0.25% จากเดิมคาดว่า ลดอัตราดอกเบี้ยถึง 2 ครั้ง
ขณะที่ประเทศไทยเอง ก็เผชิญกับ “โชคร้าย” เพราะในวันเดียวกัน (12 มิ.ย.) คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ก็จะมีการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยเหมือนกัน โดยคาดว่ารอบนี้ กนง.ยังคงยืนกระต่ายขาเดียว ไม่ลดอัตราดอกเบี้ยอย่างแน่นอน แม้ว่า อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท จะไหลรูด ทะลุ 36 บาทเมื่อสัปดาห์ที่ผ่าน และตลาดหุ้นบ้านเราก็ติดลบในรอบ 5 ปี เกือบหลุด 1,300 จุด หนักกว่า ช่วงโควิด ที่นายกฯ ลุงตู่ ประกาศปิดประเทศ เสียอีก
งานนี้ เล่นเอาหนาวกันทั้งประเทศ ขนาด นายกฯ กัดฟันขอให้ผู้ว่าการ ธปท.ลดอัตราดอกเบี้ยแล้ว แต่ก็ไม่เป็นผล รอบนี้ “อ๊อฟ-เผ่าภูมิ โรจนสกุล” รมช.คลัง ออกมาอ้อนวอนลดดอกเบี้ยลง ก็ไม่น่าเป็นผลเช่นกัน
เรื่องที่ 4,508 อีกประเด็นที่น่าสนใจ แม้ กนง.จะไม่ยอมลดอัตราดอกเบี้ย แต่กระทรวงการคลังในฐานะกระทรวงเศรษฐกิจ มีเครื่องทางการคลังในมือ เยอะมาก ขณะนี้ เริ่มกระจายงานให้แบงก์รัฐ เร่งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลัง ล้วนแต่ใหญ่และหนักมาก ล่าสุด สั่งธนาคารออมสินปล่อยกู้ซอฟต์โลน วงเงิน 1 แสนล้านบาท !! ….. อัตราดอกเบี้ย 0.01% ให้แก่สถาบันการเงินเอกชน เหมือนกับตอนเกิดโควิดใหม่ๆ จริงหรือไม่ ได้ยินกับหู แต่ถ้าไม่เชื่อต้องไปถาม “อ๊อฟ-เผ่าภูมิ โรจนสกุล” รมช.คลัง คนนี้ คนเดียวเท่านั้น ที่ตอบได้!!
เรื่องที่ 4,509 ปัญหาราคาน้ำมันปาล์มยังไม่หมดไป แต่ แต่ มาวันนี้ ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมีนาย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุม เปิดเผยว่า ได้มอบให้ปลัดกระทรวงพลังงานซึ่งมาประชุมแทนรัฐมนตรี ได้ไปเจรจากับผู้ค้ารายใหญ่ พอเจรจาเสร็จ ได้ข้อสรุปว่า ผู้ค้ารายใหญ่ เช่น บมจ.ปตท. (PTT) และบมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) ยอมรับปากแล้วว่าจะซื้อราคาที่ประกาศ 30 บาท หากประกาศ B100 ที่ราคา 30 บาท ราคาผลปาล์มสดที่เกษตรกรขายได้จะดีพอสมควรที่ 4.70-4.90 บาท/กิโลกรัม ร่วมด้วยช่วยกันแก้ปัญหาราคาปาล์มไปด้วยกันนะขอรับเจ้านาย
สรุปข่าวเด่นต่างประเทศ
เรื่องที่ 4,510 นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า สหภาพยุโรป (EU) น่าจะเปิดเผยแผนอัตราภาษีสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ของจีนในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการปราบปรามการนำเข้ารถจีนราคาถูกที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ปัจจุบัน EU เรียกเก็บภาษีนำเข้ามาตรฐานสำหรับรถ EV อยู่ที่ 10% แต่มีกำหนดที่จะปรับขึ้นภาษีสำหรับรถยนต์ EV ของจีนเป็นการชั่วคราว โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค.
นักวิเคราะห์ของซิตี้ (Citi) กล่าวเมื่อวันจันทร์ (10 มิ.ย.) ว่า EU อาจปรับขึ้นอัตราภาษีเป็น 25-30% จาก 10% ในปัจจุบัน
เรื่องที่ 4,511 สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า กระทรวงทรัพยากรน้ำของจีนประกาศเตือนเมื่อวันจันทร์ (10 มิ.ย.) ว่า แม่น้ำขนาดเล็กและขนาดกลางหลายแห่งในภูมิภาคทางตอนใต้ของประเทศ อาจเผชิญน้ำท่วมสูงเกินเกณฑ์เตือนภัยเนื่องจากฝนตกหนักในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
แม่น้ำในเจียงซี เจ้อเจียง ฝูเจี้ยน กว่างซี กว่างตง (กวางตุ้ง) และหูหนานอาจมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากคาดว่าฝนตกหนักจะกระทบหลายพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ ทางตอนใต้ และหลายภูมิภาคทางตอนใต้ของแม่น้ำแยงซีตั้งแต่วันอังคารจนถึงวันเสาร์ (11-15 มิ.ย.)
เรื่องที่ 4,512 สื่อท้องถิ่นรายงานว่า เวียดนามขึ้นเป็นผู้ส่งออกทุเรียนรายใหญ่อันดับ 2 ไปยังจีน เป็นรองแค่ไทยเท่านั้น กรมนำเข้าและส่งออก ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ระบุว่า การส่งออกทุเรียนของเวียดนามไปยังจีนในช่วงเดือนม.ค.-เม.ย. เพิ่มขึ้น 91% เมื่อเทียบเป็นรายปี
หนังสือพิมพ์วีเอ็นเอ็กซ์เพรส (VnExpress) ของเวียดนามรายงานเมื่อวานนี้ (10 มิ.ย.) ว่า การส่งออกทุเรียนของเวียดนามกำลังขยายตัวเนื่องจากราคาที่แข่งขันได้ โดยในช่วงเดือนม.ค.-เม.ย. ราคาเฉลี่ยของทุเรียนเวียดนามอยู่ที่ 4,662 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ซึ่งต่ำกว่าราคานำเข้าเฉลี่ยของจีนที่ 5,395 ดอลลาร์ต่อตัน กรมนำเข้าและส่งออกเสริมว่า ทุเรียนสดจากเวียดนามถูกส่งไปยังจีนโดยมีราคาที่สมเหตุสมผล ขนส่งรวดเร็ว และมีฤดูเก็บเกี่ยวตลอดทั้งปี
เรื่องที่ 4,513 ไต้หวันซึ่งเป็นแหล่งผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่สำคัญของโลกกำลังเผชิญกับภาวะขาดแคลนพลังงาน ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวอาจจะสร้างปัญหาให้กับบรรดาผู้ผลิตชิป ทั้งนี้ การผลิตชิปจำเป็นต้องใช้พลังงานและไฟฟ้าในปริมาณมาก และรัฐบาลไต้หวันกำลังเผชิญกับความยากลำบากในการตอบสนองความต้องการพลังงานภายในประเทศ
นายเจิน จง-ชุน ผู้ช่วยฝ่ายวิจัยของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจชุงหัว (Chung-Hua Institution for Economic Research) เปิดเผยกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า “ความกังวลเกี่ยวกับภาวะขาดแคลนพลังงาน และภาวะตกต่ำด้านคุณภาพและความน่าเชื่อถือของพลังงาน อาจจะสร้างความเสี่ยงในการดำเนินงานให้กับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์”
โดยนพวัชร์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ข่าวเด่น เย็นนี้ 10 มิ.ย.2567