ข่าวเด่น ข่าวดัง วันที่ 19-20 พ.ค 2566
ทุกสายตาเฝ้ารอดู MOU ของพรรคร่วมรัฐบาลที่นำโดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล
เรื่องที่ 2,129 ทุกสายตาเฝ้ารอดู MOU ของพรรคร่วมรัฐบาลที่นำโดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่ประกาศตั้งรัฐบาล 313 เสียง ร่วมกับอีก 7 พรรค ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย, พรรคประชาชาติ, พรรคไทยสร้างไทย, พรรคเสรีรวมไทย, พรรคเพื่อไทรวมพลัง, พรรคเป็นธรรม, และ พรรคพลังสังคมใหม่
โดยในเบื้องต้น 8 พรรควาง 3 ข้อ เพื่อเป็นกรอบในการทำงานร่วมกันคือ
- ทุกพรรคเห็นชอบที่จะสนับสนุนหัวหน้าพรรคก้าวไกล นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ตามเสียงข้างมากจากผลการเลือกตั้งของประชาชน
- ทุกพรรคจะร่วมกันจัดทำข้อตกลงร่วม (MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อแสดงถึงแนวทางการทำงานร่วมกัน และวาระร่วมของทุกพรรค และจะแถลงต่อสาธารณะในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ เพื่อแก้ไขวิกฤตการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ
- ทุกพรรคจะจัดตั้งคณะทำงานเปลี่ยนผ่านรัฐบาล เพื่อเตรียมความพร้อมให้สามารถบริหารราชการแผ่นดินต่อจากรัฐบาลเดิมได้แบบไร้รอยต่อ
MOU ที่จะมีการเปิดเผยในวันที่ 22 พฤษภาคม นี้ จะมีเป็นชี้ให้กระจ่างว่า พรรคก้าวไกล จะสามารถจัดตั้งรัฐบาล ได้หรือไม่
เรื่องที่ 2,130 “อาจารย์วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการจัดตั้งรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้งที่มีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำ ซึ่งเท่าที่ทราบปัจจุบันรวบรวมได้ 313 เสียงถือว่า “มีเสถียรภาพมั่นคงแข็งแรงยิ่งกว่าเรือเหล็ก” เสียงเกิน 250 ถือว่ามั่นคงแล้ว ขนาดรัฐบาลที่แล้วผมยังบอกว่าเรือเหล็กเลย แต่ครั้งนี้ยิ่งกว่าเหล็กอีก” นายวิษณุ กล่าว
“การเลือกนายกรัฐมนตรีอาจจะไม่ใช่ภารกิจยุ่งยากเท่าไหร่ แต่การผ่านกฎหมาย อะไรต่ออะไรยังมีมากกว่านี้ และหลายคนใน 6-7 พรรคนี้ก็พยายามประสาน เพราะเขามีพรรคพวกเพื่อนฝูงอยู่ ดังนั้นใช้เวลาตอนนี้ให้เป็นประโยชน์ อย่าลงมือด่าทอ ตบตีกัน ตั้งแต่วันแรก”
เรื่องที่ 2,131 หลังผ่านการเลือกตั้ง 2566 มาเรียบร้อยแล้ว ปรากฎการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นกับตลาดหุ้นก็คือ หุ้นของกลุ่มโรงไฟฟ้าทั้งหลายร่วงกันระนาว เพราะเกรงกลัวต่อนโยบายของพรรคก้าวไกล วันนี้ บก.ชวนคุยเลยจะพาไปส่องกำไรไตรมาส 1/66 ของกลุ่มโรงไฟฟ้ากันหน่อยว่าเป็นอย่างไร เผื่อท่านใดจะเก็บเอาไว้เปรียบเทียบหลังจากที่มีรัฐบาลเข้ามาว่าเป็นอย่างไร
เริ่มต้นกันที่บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/66 มีรายได้รวม 29,083 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% จาก 22,453 ล้านบาท ในไตรมาส 1/65 และมีกำไรจากการดำเนินงาน 3,668 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% จาก 3,257 ล้านบาทในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKPower ผลการดำเนินงานไตรมาสแรกของปี 66 บริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้ รวม 2,686 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.6%
บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผลการดำเนินงานไตรมาสแรก ปี 66 มีรายได้รวม 17,005 ล้านบาท ต้นทุนและค่าใช้จ่ายรวม 15,310 ล้านบาท และกำไรส่วนของบริษัท 1,448 ล้านบาท โดยธุรกิจไฟฟ้ายังคงสร้างรายได้หลักจำนวน 16,494 ล้านบาท คิดเป็น 97% ของรายได้รวม
บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ จีพีเอสซี (GPSC) มีรายได้รวม 27,905 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรสุทธิ 1,118 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 804 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 257% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
นี่เป็นเพียงคร่าวๆที่ยกตัวอย่างมาให้เห็นภาพกัน ส่วนหลังจากนี้จะเป็นอย่างไรเรามาดุกันหลังไตรมาส 2/66 กัน ถึงวันนั้น บก.ชวนคุยจะมาสรุปให้เห็นภาพกันอีกครั้งครับผม
เรื่องที่ 2,132 สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า นักลงทุนวิตกว่าปัญหาเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลผสมฝ่ายประชาธิปไตยของไทย จะทำให้สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองยืดเยื้อ ซึ่งส่งผลกระทบต่อตลาดต่าง ๆ ของไทย ขณะนี้ บรรดานักลงทุนต่างชาติวิตกกังวลเกี่ยวกับความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ส่งผลให้แห่เทขายหุ้นและตราสารหนี้สกุลเงินบาท โดยสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยระบุว่า กองทุนต่างชาติได้เทขายสุทธิตราสารหนี้ไทยเป็นเงิน 492 ล้านดอลลาร์เมื่อวันพุธ (17 พ.ค.) ซึ่งมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2559
นอกจากนี้ นักลงทุนต่างชาติยังได้เทขายสุทธิหุ้นไทยเป็นเงิน 183 ล้านดอลลาร์ในช่วงเวลา 3 วัน (15-17 พ.ค.) เงินบาทไทยอ่อนค่าลงติดต่อกัน 3 วันนับตั้งแต่วันอังคาร (16 พ.ค.) โดยร่วงลง 1.6% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหักล้างกับการแข็งค่าขึ้นเมื่อวันจันทร์ (15 พ.ค.) หลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้ง ขณะที่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกลพยายามคลี่คลายความกังวลของนักลงทุน โดยระบุว่า พรรคก้าวไกลและพรรคพันธมิตรพร้อมรับมือกับความท้าทาย “ผมเชื่อมั่นว่าเราจะได้คะแนนเสียงมากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาล”
สรุปข่าวต่างประเทศ
เรื่องที่ 2,133 บรรดาผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำทั้ง 7 หรือ G7 ได้เปิดฉากการประชุมสุดยอดแล้วในวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา ณ เมืองฮิโรชิมา หลังเดินทางร่วมกันเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ที่อุทิศให้แก่ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์โจมตีด้วยอาวูธนิวเคลียร์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่ทั่วโลกมีความกังวลว่ารัสเซียอาจใช้อาวุธนิวเคลียร์ในการโจมตียูเครนอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่า ประธานาธิบดีโวโลดีเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน จะเดินทางมาเข้าร่วมการประชุมสุดยอดที่เมืองฮิโรชิมาด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่สร้างความประหลาดใจ และอาจกระตุ้นให้ผู้นำกลุ่ม G7 รวมตัวกันมากขึ้นเพื่อสนับสนุนยูเครน
เรื่องที่ 2,134 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แห่งประเทศจีนเปิดเผยแผนพัฒนาภูมิภาคเอเชียกลางไปสู่อีกระดับ โดยจะเริ่มตั้งแต่การสร้างเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานไปจนถึงการส่งเสริมการค้า พร้อม ๆ ไปกับการป้องกันการแทรกแซงจากต่างชาติ ประธานาธิบดี “สี” กล่าวที่การประชุมสุดยอดจีน-เอเชียกลางว่า จีนเตรียมพร้อมที่จะผสานยุทธศาสตร์การพัฒนากับ 5 ประเทศในภูมิภาคเอเชียกลาง ได้แก่ คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน เติร์กเมนิสถาน และอุซเบกิสถาน และร่วมกันส่งเสริมการพัฒนาทั้ง 6 ประเทศให้มีความทันยุคทันสมัย โดยโลกต้องการเอเชียกลางที่มีเสถียรภาพ รุ่งโรจน์ สามัคคี และเชื่อมโยงกัน”
อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดี “สี” กล่าวเตือนว่า ทั้ง 6 ประเทศควรต่อต้านการแทรกแซงกิจการภายในจากต่างชาติและความพยายามในการยุยงให้เกิดการ “ปฏิวัติสี” ตลอดจนรักษาจุดยืนที่จะไม่อดทนต่อกลุ่มก่อการร้าย ขบวนการแบ่งแยก และกลุ่มหัวรุนแรง
เรื่องที่ 2,135 สมาคมผู้ผลิตยานยนต์จีน (CAAM) เปิดเผยว่า จีนแซงญี่ปุ่นขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในโลกในไตรมาส 1/2566 ซึ่งตรงกับเดือนม.ค.-มี.ค. โดยได้รับแรงหนุนจากดีมานด์รถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ และการส่งออกรถยนต์จากจีนไปรัสเซียเพิ่มสูงขึ้น CAAM ระบุว่า ยอดส่งออกรถยนต์จีนในเดือนม.ค.-มี.ค. ดีดตัวขึ้น 58% จากเมื่อปีก่อนสู่ระดับ 1.07 ล้านคัน สมาคมผู้ผลิตยานยนต์ญี่ปุ่นระบุว่า ยอดส่งออกรถยนต์ของญี่ปุ่นในไตรมาส 1/2566 อยู่ที่ 950,000 คัน เพิ่มขึ้น 6% จากเมื่อปีก่อน ทั้งนี้ ยอดส่งออกรถยนต์จีนยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในไตรมาสปัจจุบัน โดยกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์นั่งส่วนบุคคลคาดการณ์ว่า ยอดส่งออกจะปรับตัวขึ้น 30% ตลอดทั้งปีนี้สู่ระดับ 4 ล้านคัน การเปลี่ยนแปลงไปใช้พลังงานไฟฟ้าได้กระตุ้นให้จีนผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจในการส่งออกรถยนต์ โดยการส่งออกรถยนต์พลังงานใหม่ในไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งรวมถึงรถยนต์ไฟฟ้าพุ่งทะยานขึ้น 93% เมื่อเทียบรายปีสู่ระดับ 380,000 คัน โดยรถยนต์พลังงานใหม่มีสัดส่วนในการส่งออกอยู่ที่ราว 40% ของยอดส่งออกรถยนต์ทั้งหมดของจีน เมื่อพิจารณาเป็นรายบริษัท ข้อมูลจากสื่อจีนระบุว่า เทสลาสาขาจีนเป็นผู้ส่งออกรถยนต์พลังงานใหม่อันดับ 1 โดยมียอดส่งออกอยู่ที่ 90,000 คัน ตามมาด้วยรถยนต์นั่งส่วนบุคคลของเอสเอไอซี มอเตอร์ที่ 50,000 คัน และบีวายดีที่ 30,000 คัน เบลเยียม ออสเตรเลีย และไทย เป็นจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของรถยนต์พลังงานใหม่ที่ผลิตในจีน โดยการที่ไทยรั้งอยู่ในอันดับ 3 แสดงให้เห็นว่า ผู้ผลิตรถยนต์จีนกำลังใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพื่อสร้างส่วนแบ่งทางการตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งญี่ปุ่นครอบครองมาอย่างยาวนาน
เรื่องที่ 2,136 “เจเน็ต เยลเลน” รมว.คลังสหรัฐได้ยืนยันถึงความแข็งแกร่งและความมั่นคงของระบบธนาคารของสหรัฐในระหว่างการประชุมร่วมกับบรรดาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของธนาคารต่าง ๆ เมื่อวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ขณะนี้ ภาคธนาคารกำลังพยายามที่จะฟื้นตัวจากภาวะปั่นป่วนที่ดำเนินมาหลายสัปดาห์จากการที่ธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ (SVB) ล่มสลายลงอย่างกะทันหัน ซึ่งทำให้หน่วยงานกำกับดูแลเข้ายึดสถาบันที่ล้มละลายลงอีกสองแห่ง และสนับสนุนผู้ฝากเงินที่ไม่มีประกัน ซึ่งเป็นความพยายามที่จะคลายความวิตกเกี่ยวกับผลกระทบที่ลุกลามเป็นวงกว้าง
เรื่องที่ 2,137 สถาบันการเงินระหว่างประเทศ (IIF) ระบุว่า หนี้สินทั่วโลกเพิ่มขึ้น 8.3 ล้านล้านดอลลาร์ในไตรมาส 1 ปีนี้ ใกล้แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 305 ล้านล้านดอลลาร์ เนื่องจากเศรษฐกิจทั่วโลกเผชิญกับวิกฤตการณ์ของการปรับตัวครั้งใหญ่ (crisis of adaptation) ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ธนาคารทั่วโลกดำเนินนโยบายคุมเข้มด้านการเงินอย่างรวดเร็ว IIF เปิดเผยรายงานรายไตรมาสที่ชื่อว่า “Global Debt Monitor” โดยระบุว่า หนี้สินที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้น ได้ส่งผลให้ต้นทุนในการชำระหนี้เพิ่มขึ้น และก่อให้เกิดความวิตกเกี่ยวกับภาวะหนี้สินในระบบการเงินทั้งนี้ ธนาคารกลางทั่วโลกได้พากันปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นระยะเวลานานกว่า 1 ปีแล้วเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นอย่างรุนแรง โดยล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% เมื่อช่วงต้นเดือนพ.ค. สู่ระดับ 5-5.25% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค. 2550 “นโยบายการเงินที่อยู่ในระดับคุมเข้มมากที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินโลกในปี 2551-2552 นั้น ส่งผลให้เกิดภาวะตึงตัวด้านสินเชื่อ ซึ่งจะนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้อัตราดอกเบี้ย และผลที่ตามมาคือการเกิดบริษัท “ซอมบี้” เป็นจำนวนมาก โดยคาดว่าบริษัทในลักษณะนี้มีอยู่ประมาณ 14% ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐ” IIF ระบุในรายงาน
ทั้งนี้ บริษัทซอมบี้ (zombie) หรือบริษัทผีดิบ ถือเป็นปรากฏการณ์ทางธุรกิจอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นได้เมื่อธุรกิจเกิดภาวะหนี้สินล้นพ้นตัว หรือเป็นบริษัทที่ไม่มีความสามารถในการทำกำไรทั้งในปัจจุบันและอนาคตมากเพียงพอ จะทำให้การชำระหนี้สินของบริษัทต้องใช้เวลานานมากขึ้น
รายงานของ IIF ระบุว่า หนี้สินโดยรวมในประเทศกลุ่มตลาดเกิดใหม่พุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ที่กว่า 100 ล้านล้านดอลลาร์ในไตรมาส 1 หรือคิดเป็นอัตราส่วนสูงถึง 250% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 75 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2562 โดยหนี้สินเพิ่มขึ้นมากที่สุดในจีน เม็กซิโก บราซิล อินเดีย และตุรกีส่วนในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ญี่ปุ่น สหรัฐ ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร มีหนี้สินเพิ่มขึ้นมากที่สุดในไตรมาส 1
โดยนพวัชร์