ข่าวเด่น ข่าวดัง วันที่ 14-15 พ.ย.2565
ติดตามการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 15 พ.ย.65 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เตรียมเสนอโครงการประกันรายได้ รอบปี 65/66 เกณฑ์การจ่ายเงินส่วนต่างประกันรายได้จะเป็นเหมือนกับของปีก่อน ครอบคลุมเกษตรกร 4.6 ล้านครัวเรือน อีกทั้งจะได้มีการพิจารณาโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ไร่ละพัน ไม่เกิน 20 ไร่ต่อครัวเรือนด้วย
เรื่องที่ 1,558 แม้โครงการประกันรายได้ของพรรคประชาธิปัตย์ จะถูกมองว่า ใช้งบประมาณมาก แต่ รมว.พาณิชย์ ยืนยันว่า กรอบวงเงินโครงการประกันรายได้ และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการข้าวฯ อยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ในส่วนของราคาข้าว ขณะนี้มีแนวโน้มขยับตัวสูงขึ้น เนื่องจากมีการส่งออกข้าวมากขึ้น ซึ่งจะทำให้การใช้งบประมาณเพื่อจ่ายส่วนต่างระหว่างราคาประกันกับราคาตลาดน้อยลงกว่าปีก่อน
มีรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (8 พ.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้เรียกรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และหัวหน้าส่วนราชการหลายคนเข้าหารือที่ตึกไทยคู่ฟ้า
ประกอบไปด้วยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร และนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เข้าร่วม โดยใช้เวลาหารือประมาณ 30 นาที ซึ่งมีการหารือในเรื่องของโครงการประกันรายได้เกษตรกรด้วย และ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไฟเขียวในการหารือครั้งนั้นแล้ว
เรื่องที่ 1,559 ได้ฟังแถลงข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) โดยท่านเลขา “พี่เต้ย คมกฤช ตันตระวาณิชย์” และอีกหนึ่งตำแหน่งเป็น โฆษก กกพ. แล้วบอกเลยว่าปี 2566 คนไทยกระเป๋าสตางค์มีสะดุ้งโหยงขนานใหญ่ เนื่องจากท่านเลขา ได้มีการนำเสนอค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่าเอฟที (FT) ประมาณการและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนคงค้างที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. แบกรับในกรณีต่างๆ ซึ่งประกอบด้วย
กรณีแรกค่าเอฟทีเรียกเก็บประจำงวดเดือน ม.ค.- เม.ย. 66 จำนวน 224.98 สตางค์ต่อหน่วย แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ม.ค.- เม.ย. 2566 จำนวน 158.31 สตางค์ต่อหน่วย และเงินทยอยเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงบางส่วน 66.67 สตางค์ต่อหน่วยเพื่อให้ กฟผ. ได้รับเงินคืนครบภายใน 1 ปี โดย กฟผ. จะต้องบริหารภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชนจำนวน 81,505 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.03 บาทต่อหน่วย
กรณีที่ 2 ค่าเอฟทีเรียกเก็บประจำงวดเดือน ม.ค.- เม.ย. 2566 จำนวน 191.64 สตางค์ต่อหน่วย แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ม.ค.- เม.ย. 2566 จำนวน 158.31 สตางค์ต่อหน่วย และเงินทยอยเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงบางส่วน 33.33 สตางค์ต่อหน่วยเพื่อให้ กฟผ. ได้รับเงินคืนครบภายใน 2 ปี โดย กฟผ. จะต้องบริหารภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชนจำนวน 101,881 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.70 บาทต่อหน่วยแฃะ
และกรณีสุดท้ายค่าเอฟทีเรียกเก็บประจำงวดเดือน ม.ค.- เม.ย. 2566 จำนวน 158.31 สตางค์ต่อหน่วย โดย กฟผ. จะต้องรับภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชนจำนวน 122,257 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.37 บาทต่อหน่วย
โดยทุกกรณีไม่มีกรณีไหนเลยที่ค่าไฟงวด ม.ค.-เม.ย. 66 จะเท่ากับที่จ่ายอยู่ในปัจจุบันที่ 4.72 บาทต่อหน่วยเหมือนที่ “พี่กบ กุลิศ สมบัติศิริ” เคยระบุไว้ว่าจะตรึงให้ราคาเท่าเดิม ทุกกรณีที่พี่เต้ยบอกมาล้วนแล้วแต่สูงกว่าทั้งสิ้น แบบนี้ประชาชนอย่างเราๆคงจะต้องเตรียมตัวมีรายจ่ายเพิ่มกันอีกแล้วใช่ไหมครับเจ้านาย
เรื่องที่ 1,560 ก็บอกแล้วนะวิ…!!! เรื่องภายในกระทรวงการคลังถือว่าใหญ่แล้ว แต่เมื่อเทียบกับเรื่องภายนอกกระทรวงการคลัง ดูแล้วเล็กลงไปถนัดตา โดยเฉพาะธนาคารเฉพาะกิจของรัฐตอนนี้ใหญ่เต็มๆ ขนาดสินทรัพย์ 2 ล้านล้านบาทก็มี 1 ล้านล้านบาทก็มี ส่วนแบงก์รัฐขนาดแสนล้านบาท ก็ยังใหญ่กว่าแบงก์เอกชนบางแห่ง
การขับเคลื่อนในแต่ละครั้ง เมื่อหัวขบวนเปลี่ยนจึงเกิดความคึกคักขึ้นมาในทันที ณ วันนี้ ฟันธงล้านเปอร์เซ็นต์ “ฉัตรชัย ศิริไล” เอ็มดี ธอส. ขึ้นแท่น เอ็มดี ธ.ก.ส. แน่นอน ศักราชใหม่ของ ธ.ก.ส. จะเริ่มต้นที่ “ฉัตรชัย” นี่แหละ เพราะตลอด 56 ปีที่ผ่านมา เอ็มดี ธ.ก.ส. ล้วนแต่เป็นคนในไต่เต้าจากเจ้าหน้าที่ จนถึงเอ็มดี จนมีการเปรียบเปรยว่า เป็นธนาคารรัฐแห่งเดียวที่มีลูกหม้อมาเป็นเอ็มดีโดยตลอด
อีกแบงก์หนึ่ง คือออมสิน จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง ณ วันนั้นคือ “กรพจน์ อัศวินวิจิตร” ไม่ใช่ลูกหม้อของออมสิน แต่เมื่อเข้ามาแล้วก็เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เรียกว่า ” Re-engineering” แถมผอ.ออมสินคนต่อมา ก็เก่งฉกาจไม่ใช่ย่อย เรียกว่า ปลุกยักษ์ตื่นได้สำเร็จ จนทำให้ธนาคารออมสินกลายเป็นธนาคารที่โดดเด่นที่สุดของกระทรวงการคลัง และเทียบชั้นแล้ว ยังเป็นธนาคารอันดับ 1 หรือไม่ก็เป็นธนาคารอันดับ 2 ของประเทศไทย
ธ.ก.ส. อยู่อันดับที่เท่าไหร่ ใครจำได้บ้าง ดังนั้น การตัดสินใจของ “ฉัตรชัย” ซึ่งมีหมวกอยู่แล้ว 1 ใบ มาใส่หมวกใบที่ 2 นั่งเอ็มดี ธ.ก.ส. ถือเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าไม่มีบิ๊ก แล้วก็บิ๊ก หนุนหลัง “ฉัตรชัย” ไม่ลงชิงตำแหน่งนี้หรอก เพราะทุกคนรู้ว่า ครบวาระ 4 ปี สมัยที่ 2 (8 ปี) เหลือเวลาอีกปีกว่าก็ยังทำงานที่ ธอส. ได้อย่างสบาย แต่การลุกแล้วมานั่งที่แบงก์ใหม่มีนัยสำคัญอย่างยิ่ง ส่วนคนใน “เสกสรร จันทร์ขวาง” และ “ณรงค์ ขันติวิริยะกุล” ไม่ใช่ไม่เก่ง แต่ต้องโทษเอ็มดีคนก่อนๆนี้ ไม่วางคน ไม่พัฒนาคน ไม่ลงทุนกับคน ทำให้ขาดรอยต่อของการขึ้นมาเป็นเอ็มดี ดังนั้น ถ้า “ฉัตรชัย” ขึ้นมาเป็นเอ็มดี ธ.ก.ส.จริง ก็อยากจะฝากบอกไปยังพนักงาน อย่าก่อคลื่นใต้น้ำ เพราะ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) 12% กว่าๆมันค้ำคอกระทรวงการคลัง
พรุ่งนี้มองข้ามช็อตเปิดชื่อคนชิงเอ็มดีธนาคารอาคารสงเคราะห์… ดีเปล่าครับ!!!
โดยนพวัชร์