ข่าวเด่น ข่าวดัง วันที่ 6-7 เม.ย.2565
“กรณีป้ายหาเสียงของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.เบอร์ 8 ทำให้เกิดการตื่นตัวต่อผู้สมัครคนอื่นๆด้วยอีกมาก มาย เพราะปัญหาใหญ่เกี่ยวกับป้ายหาเสียง คือการติดตั้งบดบังสายตา ทัศนวิสัย กีดขวางทางเท้า เพราะต่างคนต่างติดอย่างสะเปะสะปะ ไม่มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย”
เรื่องที่ 985 แต่การผุดขึ้นมาของป้ายหาเสียง “ชัชาติ” ทำให้ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.เกิดความตระหนักว่า ป้ายหาเสียงก็มีความสำคัญในการสร้างคะแนนความนิยม ไม่ต่างจากความนิยมของพรรค หรือตัวนโยบาย
พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครหมายเลข 6 ตัดสินใจเปลี่ยนป้ายทันที หลังเปิดรับเรื่องร้องเรียนปัญหาเรื่องป้ายหาเสียงในจุดต่างๆ โดยสั่งให้ทีมงานไปเก็บและแก้ไขในจุดที่ประชาชนแจ้งเข้ามาทันที และบางป้ายได้ย้ายไปอยู่ในที่ที่เหมาะสม ที่สำคัญ “บิ๊กวิน” ได้เปลี่ยนป้ายใหม่ มีขนาดเล็กเหมือนของชัชชาติ
ผู้สมัครอีกคนคือ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ได้เปิดตัวป้ายหาเสียงขนาดใหม่ ซึ่งมีขนาดเทียบเท่าป้ายมาตรฐาน นำมาพับให้เป็น 3 ด้าน ติดล้อมเสาไฟทั้ง 3 ด้าน พร้อมกับระบุว่า ที่ผ่านมาจะเห็นว่าป้ายหาเสียงของตนยังไม่ค่อยมีให้เห็นมากนัก และป้ายหาเสียงลักษณะนี้พรรคประชาธิปัตย์ก็เคยทำมาแล้วในการเลือกตั้งปี 62
การที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ให้ความสำคัญกับเรื่องเล็กๆ ง่ายๆ อย่างป้ายหาเสียงนี้ มีความสำคัญตรงที่ อนาคตไม่แน่ว่า อาจจะมีการเสนอออกกฎหมาย ควบคุมป้ายหาเสียง หรือจัดระเบียนอย่างเป็นระบบ เหมือนหลายประเทศที่พัฒนาแล้วเขาทำกัน นั่นหมายความว่า การเลือกตั้งไทย ได้ก้าวไปอีกระดับแล้ว
เรื่องที่ 986 วันหยุดก็ยังคงขยันทำงานสำหรับหัวเรือใหญ่ของกระทรวงอุตสาหกรรมอย่าง “ท่านรมว. สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” ที่สรุปตัวเลขยอดจองยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) จากงานมอเตอร์โชว์ 2022 หรือ Motor Show 2022 ที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปได้ 3,000 คัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสนใจของผู้บริโภคจำนวนมากและพอจะมองเห็นภาพได้ว่ากระแสการใช้รถ EV น่าจะสดใสได้บ้าง ก็ไม่รู้ว่า 1 ใน 3,000 คัน นั้นจะมีชื่อคนจองว่า “สุริยะ” หรือเปล่าน้อออ!! เพราะมีข่าวว่าท่าน รมว.อุตสาหกรรมเดินเข้า-ออกทุกบูธ พร้อมกับเข้าไปนั่งทดลองขับแทบทุกยี่ห้อเลยครับผม
ส่วนเป้าในการผลิตรถอีวีของประเทศไทยนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการผลิตในประเทศรวม 725,000 คันต่อปี หรือคิดเป็น 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในปี 2573 โดยคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี (GDP) ไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาท และสร้างความต้องการแรงงานยานยนต์สมัยใหม่ประมาณ 30,000 อัตราต่อปี ถ้าทำได้ตามเป้าที่วางเอาไว้สวยหรูก็คงจะเป็นผลดีกับประเทศอย่างแน่นอน ยังไงก็ต้องเอาใจช่วยท่านสุริยะให้เดินหน้าไปได้ตามเป้าหมายนะขอรับกระผม
เรื่องที่ 987 รายงานความคืบหน้าในการซ่อมและบูรณะ “พระคลังในพระคลังมหาสมบัติ” ประดิษฐานที่กระทรวงการคลัง ล่าสุด การบูรณะเสร็จเกือบ 100% “ปลัดพี่ตู่-กฤษฎา จีนะวิจารณะ” กล่าวว่า เหลือตบแต่งให้สวยงามอีกเล็กน้อย จากกรมศิลปากรก็เป็นอันเสร็จสมบูรณ์ ส่วนใคร หรือลูกคลัง คนไหนคิดถึงพระคลังก็สามารถมากราบไหว้ได้ ไม่มีใครห้ามแต่อย่างใดครับ
เรื่องที่ 988 แบบนี้ก็มีด้วย!! ในขณะที่สหรัฐฯ กดดันชาติพันธมิตรตะวันตกให้เลิกซื้อน้ำมันจากรัสเซียเพื่อตอบโต้การส่งทหารรุกรานยูเครน ล่าสุดมีข้อมูลจากฝั่งมอสโกว่า สหรัฐฯ มีการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียเพิ่มขึ้นถึง 43% ในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ขึ้นมาทันทีว่า อเมริกากำลังแสวงหาประโยชน์ใส่ตัวโดยแลกกับความลำบากเดือดร้อนของชาติยุโรปหรือไม่
หนังสือพิมพ์โกลบอลไทม์สของจีนอ้างข้อมูลจาก มิคาอิล โปปอฟ (Mikhail Popov) รองเลขาธิการสภาความมั่นคงรัส เซีย ซึ่งให้สัมภาษณ์กับสื่อแดนหมีขาวว่า สหรัฐฯ นำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียเพิ่มขึ้น 43% หรือประมาณ 100,000 บาร์เรลต่อวันในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยโปปอฟท ยังฝากไปถึงชาติยุโรปด้วยว่า พวกเขาอาจได้เห็นสหรัฐฯ ทำสิ่งที่ “น่าประ หลาดใจ” เช่นนี้อีก
“ยิ่งไปกว่านั้น วอชิงตันยังอนุญาตให้บริษัทของพวกเขาส่งออกปุ๋ยแร่ (mineral fertilizers) จากรัสเซีย โดยให้เหตุผลว่ามันคือสินค้าจำเป็น” โปปอฟ กล่าว
ขณะเดียวกัน กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ก็ขีดเส้นตายสำหรับการยุติสัญญาสั่งซื้อน้ำมันและถ่านหินจากรัสเซียไม่เกินวันที่ 22 เม.ย. โดยสหรัฐฯ ได้ส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพิ่มขึ้นเกือบ 16% ในเดือนที่แล้ว และส่วนใหญ่ถูกส่งไปยังยุโรป ซึ่งต้องการพลังงานจากแหล่งอื่นๆ มาทดแทนก๊าซจากรัสเซีย
สหรัฐฯ ประกาศเมื่อวันที่ 25 มี.ค.ว่า จะส่งออก LNG ให้แก่ยุโรปอย่างน้อย 15,000 ล้านลูกบาศก์เมตรในปีนี้ และคาดว่าจะเพิ่มปริมาณขึ้นอีกในอนาคตเพื่อสนับสนุนให้พันธมิตรยุโรปลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย
มิค วอลเลซ (Mick Wallace) สมาชิกรัฐสภายุโรป ได้ทวีตคลิปวิดีโอขณะที่เขาปราศรัยในสภาว่า ยุโรปจำเป็นต้องการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียก็จริง แต่ก็ไม่ควรทดแทนมันด้วย “ก๊าซสกปรก” ของสหรัฐฯ ซึ่งรุกรานชาติอื่นมากกว่าประเทศใดๆ ในโลก
นักวิเคราะห์หลายคนให้ความเห็นว่า สหรัฐฯ คือฝ่ายที่จะได้ประโยชน์สูงสุดจากวิกฤตการณ์รัสเซีย-ยูเครน
โดยนพวัชร์