ข่าวเด่น ข่าวดัง ประจำวันที่ 7-8 พ.ย.2564
ราคาสินค้าการเกษตรตกต่ำ ณ วันนี้ เป็นหนึ่งได้แรงบีบหรือความกดดันที่ส่งผลให้รัฐบาลของ บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องนั่งตัวไม่ติดกันเลยทีเดียว
นั่นเพราะแรงกดดันดังกล่าว มีผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนโดยตรง ไม่ว่าจะเป็น การที่ผักราคาแพง
เรื่องที่ 460 โดยเฉพาะผักชีที่มีราคาสูงสุดในประวัติศาสตร์ อยู่ที่กิโลกรัมละ 400 บาท ขณะที่ราคาข้าวเปลือกนั้น ตกต่ำที่สุดในรอบ 10 กว่าปี อยู่ที่กิโลกรัมละ 5 บาทกว่าๆ เท่านั้น
นั่นเป็นผลให้รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ถูกโจมตีอย่างหนักว่าไม่ได้ให้ความสนใจกับความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะชาวนาที่เป็นกระดูกสันหลังของประเทศ
กิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความถึงสถานการณ์ผักแพง-ราคาข้าวตกต่ำ ว่า “ผมมั่นใจว่าถ้าคุณยิ่งลักษณ์ ยังเป็นนายกฯ ท่านจะไม่ปล่อยให้ประชาชนลำบากยากเข็ญแบบนี้”
เช่นเดียวกับ ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กรุงเทพมหานคร โฆษกพรรคเพื่อไทย ที่กล่าวว่า “ชาวนาคือเส้นเลือดหลักหล่อเลี้ยงชีวิตคนไทยและคนทั่วโลก ข้าวจากประเทศไทยสร้างรายได้เข้าประเทศมาหาศาล ทุกวันนี้ชาวนาจำนวนไม่น้อยบ่นคิดถึง โครงการจำนำข้าวที่เคยเป็นที่พึ่งหลังเก็บเกี่ยวข้าว มีรายได้ที่แน่นอน หากนายกฯ ยิ่งลักษณ์ยังดำรงตำแหน่งอยู่ คงไม่ปล่อยให้คนไทยลำบากแบบนี้”
จับตาการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ ส.ส.ฝ่ายค้านเตรียมนำประเด็นความเดือนร้อนของพี่น้องประชาชน เข้ามาหารือในสภา ขณะที่ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เตรียมตอบกระทู้ ในประเด็นราคาข้าวตกต่ำ หลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ส.ส.เพื่อไทย โวย หว่านข้าวกลางสภา
เรื่องที่ 461 ธ.ก.ส. ยุคที่ “ผู้นำองค์กร” มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี การจัดการข้อมูลข่าว…ยุค “โซเชียลมีเดียเป็นใหญ่” ที่ใครก็ผลิตและออกสื่อได้…การสื่อสารจากองค์กร จึงเป็นไปในลักษณะ “ฉับพลันทันที” เพราะหลังจากที่มีข่าวในสื่อออนไลน์ “ตีข่าว” ราคาข้าวตกต่ำ กระทบครอบครัวชาวนาไทยหลายสิบล้านคน ไม่นาน “โฆษก ธ.ก.ส.” สมเกียรติ กิมาวหา ก็ออกชี้แจงข้อเท็จจริง ประมาณว่า… ธ.ก.ส.มีหน้าที่จ่ายเงินช่วยเหลือชาวนาในโครงการประกันราคาข้าวอยู่แล้ว หากจะแปลความบรรทัดนี้…คงไม่พ้น ราคาข้าวมีขึ้น-ลง ก็เรื่องปกติ เป็นไปตามดีมานด์-ซัพพลาย แต่หากข้าวเปลือกชนิดไหนมีราคาตกต่ำ รัฐบาลก็พร้อมชดเชยส่วนที่ขาด…ให้อยู่แล้ว ตรงนี้เข้าใจตรงกัน
รุ่งขึ้น! ธ.ก.ส. มอบหมาย “รองฯสมเกียรติ” ให้ข่าวถึงความพร้อมในการจ่ายเงินประกันราคาข้าว ดีเดย์! วันอังคารที่ 9 พ.ย.นี้ รอบแรก…เตรียมวงเงินเกือบหมื่นล้านบาท แล้วยังมีที่ตามมาอีก นับรวมๆ กันทั้งปีการผลิต 64/65 มีมากว่า 1.32 หมื่นล้านบาท สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว “5 ชนิด” เกือบ 5 แสนราย ส่วนขั้นตอนการโอนเงิน ไม่เกิน 3 วัน นับจากที่ ธ.ก.ส.ได้รับราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงจากคณะอนุกรรมการฯ โดยเงินจะถูกโอนถึงมือเกษตรกรผ่านบัญชีธนาคารโดยตรงเลย แล้วก็สามารถจะตรวจเช็ควงเงินที่ไหลเข้าบัญชีได้ง่ายๆ จากแอปพลิเคลั่น ธ.ก.ส.-A-Mobile ตลอด 24 ชม. และหากใครมี LINE Official BAAC Family ล่ะก็ยิ่งเช็คกันง่ายใหญ่ ขอชื่นชม ธ.ก.ส. ในยุคของ “ธนารัตน์ งามวลัยรัตน์” แทนชาวนาไทยอีกครั้ง!
เรื่องที่ 462 จะว่าไป…โครงการประกันราคาข้าว ที่พรรคประชาธิปัตย์…เล่นมาตลอด ในทุกครั้งที่เป็นรัฐบาล ถือว่าบริหารจัดการได้ง่าย หน่วยงานรัฐก็ไม่มีภาระผูกพันที่จะต้องดูแลข้าวเปลือกกองมหึมา เหมือนเช่นโครงการรับจำนำข้าว แต่ก็มีข้อเสียมากเช่นกัน…นอกจากรัฐบาลจะ “ได้หน้า” กับชาวนา ที่ช่วยพยุงราคาข้าวเปลือกแล้ว อย่างอื่นมีแต่เสียกับเสีย…เสียแรก คือ เสียเงินงบประมาณแผ่นดินที่ต้องสูญไปแต่ละปีนับหลายหมื่นล้านบาท เสียที่สอง…คือ เสียรู้! ให้กับ “คนทำนาบนหลังคน” เหตุเพราะงานนี้…มีหลายคนอิ่มเอม เคลมเงินหลวง…กับราคาข้าวเปลือกที่ตกต่ำ เหตุที่ต่ำเพราะ “คนกลาง” กดราคารับซื้อ โดยที่ภาครัฐทำอะไรไม่ได้ และไม่คิดจะทำ….นอกจากหาเงินภาษีเอามา “จ่ายชดเชยส่วนที่ขาด” ให้กับชาวนา แล้วหากไม่มีโครงการรัฐล่ะก็ ขืนพ่อค้าคนกลางและโรงสีรับซื้อข้าวเปลือกในราคาที่ต่ำกว่าราคาปุ๋ยกว่าเท่าตัวอย่างนี้…มีหวังโดนม็อบบุกประจานแน่! แต่เมื่อทุกฝ่ายสมประโยชน์ ก็คงมีแค่คนไทยที่จ่ายภาษีเท่านั้นที่เดือดร้อน จุ๊ๆๆๆ อย่าเอ็ดไป!
เรื่องที่ 463 เดินหน้าพัฒนาไม่หยุด.. เพื่อให้สอดรับกับ โมเดลเศรษฐกิจใหม่ของภาครัฐสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG Economy) ด้วยเศรษฐกิจหลัก 3 ด้าน ที่จะต้องขับเคลื่อนไปพร้อม ๆ กัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวสถาบันนวัตกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จึงตกลงปลงใจ กับ บริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) หรือ UBE ร่วมพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยียีสต์สายพันธุ์ทนร้อน สำหรับใช้ในกระบวนการหมักที่อุณหภูมิสูงและสามารถลดต้นทุนค่าเอนไซม์ที่ใช้ในกระบวนการผลิตเอทานอล เพื่อใช้ผสมกับน้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับการผลิตเอทานอลในอุตสาหกรรมพลังงาน และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ..พรายกระซิบแย้มมาว่า ..วันนี้อาจจะแค่ร่วมพัฒนา..หากประสบความสำเร็จเป็นที่น่าชื่นใจ…วันข้างหน้า อาจร่วมทุนตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่ ..ก็เป็นได้
เรื่อง 464 ด้าน บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ก็เดินหน้าปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจเพื่อให้ สอดรับกับแผนพลังงานชาติ สู่ พลังงานสะอาดในการลดภาวะโลกร้อน ผ่าน 4 กลยุทธ์ หลัก 4S ประกอบด้วย S1: Strengthen and Expand the Core S2: Scale–up Green Energy S3: S-Curve & Batteries และ S4: Shift to Customer–centric Solutions แล้ว..
เรื่องที่ 465 เร็วๆนี้ “วรวัฒน์ พิทยศิริ” ซีอีโอ GPSC ยังได้จับมือกับ 3 พันธมิตร คือ บริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด (CHPP) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) (TGO) และบริษัท นีโอคลีน เอ็นเนอยี่ จำกัด (NEO) สนับสนุนการลงทุนติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา หรือ Solar Rooftop และการขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตภายใต้โครงการ Solar Orchestra สนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้ามาลงทุน Solar Rooftop และขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย หรือโครงการ T-VER และการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ หรือที่เรียกว่า “คาร์บอนเครดิต” ที่น่าสนใจคือสามารถนำคาร์บอนเครดิตไปใช้ในการแลกเปลี่ยนซื้อขายได้อีกด้วย ..ตั้งเป้าติดตั้ง Solar Rooftop กว่า 100 เมกกะวัตต์ ในรูปแบบของสัญญาผู้รับเหมาออกแบบและก่อสร้าง (EPC) ภายในสิ้นปี 2565..ส่วนโครงการโซลาร์ภาคประชาชนของภาครัฐ ก็คงหงอยเหงาไปตามเคย.
โดย นพวัชร์