รู้จัก ส.ส.ม้ง “เลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกอนาคตได้”
ผมอยากให้ทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยเข้าใจว่า เราเป็นประเทศที่มีความหลากหลายของชาติพันธุ์ เป็นประเทศที่มีพหุวัฒนธรรม
ณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์ คือ ส.ส.ม้งคนแรกในประเทศไทย
เขาเกิดที่ อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์
เติบโตมาท่ามกลางการต่อสู่ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และรัฐไทย
ณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์ เข้าร่วมกับพรรคอนาคตใหม่ ภายใต้การนำของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ประกาศนโยบายให้โอกาสความเท่าเทียม ไม่เลือกว่าเป็นคนเมืองหรือในป่า ต่างจะได้รับการสนับสนุน ดูแลภายใต้มาตรฐานเดียวกัน
เขาเกิดเดือนในเดือนมกราคม 2508 เรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่โรงเรียนหล่มสักวิทยาคม ปริญญาตรี ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง อาชีพเดิมเป็นเกษตกร
พรรคอนาคตใหม่จัดตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ผู้นี้ ให้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 24 กระทั่งพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ กลายร่างเป็นพรรคก้าวไกล “ณัฐพล” จึงย้ายตามมา พร้อมยืนยัน ว่าไม่มีทางเป็นงูเห่าอย่างแน่นอน
ณัฐพล เล่าชีวิตในวัยเด็กว่า เป็นเด็กรุ่นแรกๆของหมู่บ้านที่ได้เรียนหนังสือ หมู่บ้านอยู่บนดอย ต้องนั่งเฮลิคอปเตอร์ออกจากหมู่บ้าน เพื่อไปยังโรงเรียน
“ผมเกิดท่ามกลางลูกระเบิดวิ่งผ่านหัว เสียงปืนดังผ่านหู ท่ามกลางความขัดแย้งของคนไทยด้วยกันเอง เห็นพี่น้องคนไทยเสียเลือดเสียเนื้อเสียชีวิตจำนวนมาก ครอบครัวผมเองคุณย่าก็เสีย น้าสองคนก็เสียชีวิต ชีวิตผมมันเศร้าหน้ารันทด เอาเป็นว่า ผมไม่ได้สบายเหมือนเด็กทุกวันนี้ แต่ผมมั่นใจอย่างหนึ่งว่า แม้คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เราเลือกที่จะเป็นได้ เราเลือกอนาคตของเราได้”
นั่นเป็นเหตุผลที่ “ณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์” เลือกเข้าร่วมกับพรรคอนาคตใหม่ เพราะเชื่อในแนวนโยบาย “คนเท่าเทียมกัน ไทยเท่าทันโลก”
ส.ส.จากบนดอย สะท้อนมุมมองของคนบนดอย โดยเปรียบเหมือนตัวเองเป็นขยะ กล่าวคือ หลายเรื่องคนเมืองมักมองคนอยู่ป่าเป็นตัวปัญหา ไม่ว่าจะเป็น สิ่งแวดล้อม หรือ ยาเสพติด
“ผมว่าชีวิตคนบนดอยเหมือนถังขยะ ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาตัดไม้ทำลายป่าก็โยนมาที่เรา ยาเสพติดก็โยนมาที่เรา ทั้งที่แท้จริงแล้วเราคือปลายเหตุ การจะแก้ปัญหาต้องป้องกันที่ต้นเหตุ ไม่ใช่เรา ถ้าบอกว่าเราทำลายป่า ถามว่าไม้ในเมืองเหล่านี้เอามาจากไหน ก็นายทุนทั้งนั้น แล้วตอบสนองใคร”
ณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์ ได้เป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการเพื่อพิจารณาศึกษาด้านผู้สูงอายุ ผู้พิการ และกลุ่มชาติพันธุ์
ภารกิจที่ “ณัฐพล” ต้องการผลัก คือ การขับเคลื่อนกฎหมายเพื่อสิทธิความเท่าเทียมของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเห็นว่า กฎหมายเพื่อคนบนดอย ต้องขับเคลื่อนโดยคนบนดอย จึงจะแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด
“ผมเห็นว่าตัวบทกฎหมายของเราไม่สอดคล้องกับชีวิตคนบนดอยเท่าไหร่นัก ปัญหาของเราเรารู้ดี แต่คนที่เขียนกฎหมาย เขียนนโยบายนั้นไม่ตอบโจทย์ปัญหาของพวกเรา เช่น ปัญหาของพวกเราคืออยู่บนดอย อยู่ในป่า ที่ทับป่า ป่าทับที่ บางครั้งเราอยู่ก่อนกฎหมาย กฎหมายมาทีหลัง แต่กฎหมายมาบังคับให้เราต้องออกจากพื้นที่ สุดท้ายกลายเป็นความขัดแย้ง”
เขา เห็นว่า เรื่องดังกล่าว ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ชาวบ้านต้องนำปัญหามากางบนโต๊ะ เพื่อร่วมกันหาทางออกที่เหมาะสม เพราะไม่มีใครอยากทำผิดกฎหมาย หากไม่ใช่เพราะความเดือดร้อนจริงๆ
“ผมอยากให้ทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยเข้าใจว่า เราเป็นประเทศที่มีความหลากหลายของชาติพันธุ์ เป็นประเทศที่มีพหุวัฒนธรรม ดังนั้นการที่เราจะเติบโตขึ้นไปด้วยกัน คือการเคารพสิทธิของทุกคน และเราต้องไม่ทอดทิ้งใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไว้ข้างหลัง“
เช่นเดียวกับปัญหาชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน “ณัฐพล” มองว่า ต้นเหตุของปัญหาคือความพยายามเอาตัวรอดของชาวบ้าน การที่รัฐจะแก้ไขปัญหาได้นั้น ต้องเข้าใจถึงที่มาของปัญหาให้ได้เสียก่อน
“วิธีเอาคนออกจากป่าไม่ได้ตอบโจทย์ในการรักษาป่าหรือเพิ่มป่า วิธีที่จะแก้ไขปัญหานี้คือต้องให้คนในพื้นที่กับผู้ที่ดูแลป่า เช่น กรมป่าไม้ เอาปัญหามาวางไว้บนโต๊ะเพื่อที่จะดูว่าเราจะอยู่ด้วยกันอย่างไร ให้ทุกคนมีความรู้สึกว่าป่านี้เป็นของเรา”
“ณัฐพล” เปิดเผยว่า พวกเรากำลังยกร่างกฎหมายชาติพันธุ์ขึ้น หากรัฐสามารถออกเขตเศรษฐกิจพิเศษได้มากมาย พื้นที่พิเศษสำหรับพี่น้องชาติพันธุ์ ก็ต้องมีได้ เพื่อให้การกลับไปอยู่กับธรรมชาติเป็นเรื่องที่ทำได้
“พวกเขาไม่ได้ทำลายป่า แต่แค่กลับบ้านไปทำกินตามวิถีดั้งเดิม ซึ่งรัฐต่างหากที่ต้องเป็นผู้ออกกฎหมายคุ้มครอง”
“ผมเกิดที่เมืองไทย ผมรักเมืองไทยไม่ต่างกับพี่น้องทุกคน ผมมาวันนี้เพื่อมาแก้ปัญหาของพี่น้องกลุ่มชาติพันธ์ทุกคน คือคนบนดอยที่ได้รับความทุกข์ยากอยู่ ผมมาด้วยเจตนาและความตั้งใจอย่างแรงกล้า”
ส.ส.ม้ง เห็นว่า ในสังคมนั้น เติมไปด้วยความขัดแย้ง สิ่งที่เขาอยากเห็นคือการลดความขัดแย้ง แล้วหันหน้าแก้ไขปัญหาร่วมกัน
“ผมเห็นว่าความขัดแย้งของสังคมไทยควรหยุดได้แล้ว เราควรจะมองข้ามความขัดแย้ง ชีวิตของคนม้งผ่านมรสุมความเจ็บปวดความเศร้าใจมามาก เราอยากมาชี้ให้เห็นว่าเราจะต้องข้ามอุปสรรคไปให้ได้ ถึงไม่อยากให้จมปรักอยู่กับความขัดแย้ง”
ณัฐพล ต้องการให้คนเมือง และคนอยู่ป่า เกิดความเข้าใจกัน เพื่อที่จะอยู่ร่วมกันอย่างรักใคร่กลมเกลียว
“อย่ามองคนที่เสื้อผ้าและวัฒนธรรมที่หลากหลาย วันนี้เป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะถูกมองว่าเราเปิดรับพหุวัฒนธรรมความหลากหลาย เป็นแบบอย่างให้กับโลก เป็นหน้าเป็นตาให้กับประเทศ”