กนอ. เยี่ยมชม “Digital Twin & Eco Town” พื้นที่ 2 นิคมฯ “สมุทรสาคร –สินสาคร”
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร และนิคมอุตสาหกรรมสินสาคร ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องในการนำเทคโนโลยี Digital Twin และแนวคิด Eco Town มาใช้บริหารจัดการ ชูภาพการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ทันสมัย ครบวงจร และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นางบุปผา กวินวศิน รองผู้ว่าการ กนอ. (สายงานพัฒนาที่ยั่งยืน) เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจาก นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. นำคณะสื่อมวลชนสายอุตสาหกรรมเข้าร่วมกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร ประจำปี 2567 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4 – 5 สิงหาคม 2567 เพื่ออัพเดทข้อมูลข่าวสารที่สำคัญของ กนอ. และเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้เยี่ยมชมนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร ซึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมนำร่องในการนำระบบ Digital Twin มาใช้ในการบริหารจัดการ โดยมุ่งหวังให้เห็นภาพการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ ซึ่งระบบ Digital Twin จะช่วยให้การบริหารจัดการสะดวก รวดเร็ว และอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ
สำหรับการเข้าเยี่ยมชมนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร ซึ่งเป็นจุดแรกของการจัดกิจกรรม มีการแบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 เรื่องหลัก คือ ภาพรวมการดำเนินงาน สายงานปฏิบัติการ 1 ซึ่งมีนิคมอุตสาหกรรมภายใต้การกำกับดูแลจำนวน 24 แห่ง ภาพรวมการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร และการพัฒนาระบบ Digital Twin
ระบบ Digital Twin คือการสร้างแบบจำลองเสมือนจริงของวัตถุหรือสภาพแวดล้อมในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งจะช่วยให้ กนอ. สามารถจำลองสถานการณ์ต่างๆ และวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างแม่นยำ เพื่อปรับปรุงการบริหารจัดการและการตัดสินใจให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดย กนอ.เริ่มพัฒนาระบบ Digital Twin ที่นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร ตั้งแต่กลาง พ.ศ. 2565 โดยมีการสร้างแบบจำลอง 3 มิติของพื้นที่และอาคาร รวมถึงติดตั้งระบบต่างๆ เช่น ระบบน้ำประปาและน้ำเสีย ระบบป้องกันน้ำท่วม ระบบไฟส่องสว่าง และระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศ เพื่อเก็บข้อมูลและวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ ในนิคมอุตสาหกรรม และจากความสำเร็จในการนำร่อง กนอ. มีแผนขยายผลการพัฒนาระบบ Digital Twin ไปยังนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ กนอ. ดูแลรวม 13 แห่ง โดยจะเชื่อมโยงระบบ IoT ต่างๆ เข้ากับ Digital Twin เพื่อให้สามารถบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและสาธารณูปโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งโครงการในระยะที่ 2 (2566-2569) เพื่อยกระดับการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมให้ก้าวสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งนี้ โครงการนำร่องที่นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า Digital Twin ไม่ใช่เพียงแค่เทคโนโลยี แต่เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อน กนอ. สู่การเป็นองค์กรที่ทำงานด้วยระบบดิจิทัล (Digital Transformation) อย่างแท้จริง ด้วยการสร้างแบบจำลองเสมือนของนิคมฯ ทั้งระบบสาธารณูปโภคและโรงงาน กนอ. สามารถตรวจสอบ ติดตาม และบริหารจัดการทุกอย่างได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที นอกจากนี้ นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาครยังมีจุดเด่นในการดำเนินงานร่วมกันระหว่างนิคมอุตสาหกรรม โรงงานอุตสาหกรรม และชุมชน แบบ Symbiosis ในการนำวัสดุเหลือใช้จากโรงงาน เช่น การนำเศษผ้าม่านมาให้วิสาหกิจชุมชนบ้านอ้อมโรงหีบทำผลิตภัณฑ์จากเศษผ้า สร้างอาชีพและรายได้ให้ชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมด้วย
“กนอ. มุ่งมั่นที่จะนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการขับเคลื่อนองค์กร เพื่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โครงการ Digital Twin นับเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยให้ กนอ. บรรลุเป้าหมายดังกล่าว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ” นางบุปผา กล่าว
นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร เป็นหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศไทย ตั้งอยู่บนพื้นที่ 1,539 ไร่ ในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร เป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมหลากหลายประเภทกว่า 103 โรงงาน สร้างมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 43,189 ล้านบาท และมีการจ้างงานกว่า 21,000 คน นอกจากนี้ นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร ยังเป็นศูนย์รวมของอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท ได้แก่ 1.อาหารและเครื่องดื่ม: โรงงานแปรรูปอาหารและเครื่องดื่มต่างๆ 2.ยาง พลาสติกและหนังเทียม: โรงงานผลิตผลิตภัณฑ์จากยาง พลาสติก และหนังเทียม 3.สิ่งทอ เส้นใย และฟอกย้อม: โรงงานผลิตสิ่งทอ เส้นใย และโรงงานฟอกย้อม 4.เหล็ก ผลิตภัณฑ์โลหะ และชิ้นส่วนยานยนต์: โรงงานผลิตเหล็ก ผลิตภัณฑ์โลหะ และชิ้นส่วนยานยนต์ 5.ปุ๋ย สี ยา และเคมีภัณฑ์: โรงงานผลิตปุ๋ย สี ยา และเคมีภัณฑ์ต่างๆ และ 6.อิเล็กทรอนิกส์และอื่นๆ: โรงงานผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และสินค้าอื่นๆ
นอกจากนี้ คณะของ กนอ. ยังได้นำสื่อมวลชน เยี่ยมชมการดำเนินงานของนิคมอุตสาหกรรมสินสาคร ซึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานกับ กนอ. จัดตั้งเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2547 โดยบริษัท ซี.เอ.เอส แอสเซท จำกัด มีพื้นที่ 1,698 ไร่ ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมสินสาคร เป็นนิคมฯ ที่อยู่ใกล้กรุงเทพมหานคร มีการจัดภูมิทัศน์ที่สวยงาม อีกทั้งยังเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ไม่มีการระบายน้ำทิ้งออกนอกพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม (Zero discharge) โดยนำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วกลับมาใช้ในการผลิตน้ำประปา และรดน้ำต้นไม้ในนิคมอุตสาหกรรม
ปัจจุบัน นิคมอุตสาหกรรมสินสาครได้รับการรับรองเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศระดับ Eco-Champion อยู่ระหว่างยกระดับสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในระดับ Eco-Excellence และยกระดับการมีส่วนร่วมบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม โดยส่งเสริมให้ประชาชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อให้ชุมชนเห็นถึงเจตนาของผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม ที่จะประกอบกิจการถูกต้องตามกฎหมาย ร่วมดูแลและรักษาสิ่งแวดล้อมในทุกด้าน เพื่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนควบคู่กับชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ผ่านโครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง
สำหรับอุตสาหกรรมในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสินสาคร ประกอบด้วย พื้นที่เฟส 1 เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมครัสเตอร์การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ต่อเนื่อง คือ 1.กลุ่มซีเคียวริตี้ พริ้นท์ติ้ง เป็นการผลิตสิ่งพิมพ์ที่ป้องกันการปลอมแปลง และที่เป็นความลับ เช่น การผลิตสแตมป์ 7-11 , การผลิตข้อสอบของหน่วยงานราชการ , หนังสือเดินทาง ฯลฯ (บริษัท จันวาณิชย์ ซีเคียวริตี้ พริ้นท์ติ้ง จำกัด, บริษัท สยามเพรส จำกัด เป็นต้น) 2. กลุ่มสิ่งพิมพ์แพคเกจจิ้งและผลิตภัณฑ์สำหรับใช้บรรจุอาหาร ส่วนพื้นที่เฟส 2 เป็นกลุ่มอุตสหากรรมทั่วไป ด้านอาหารและยา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : กนอ. ผนึกกำลัง มธ. ลุยพัฒนาศักยภาพบัณฑิตไทย เพื่อเสริมแกร่งให้ภาคอุตสาหกรรม