EXIM BANK จัดประชุมกลุ่มความร่วมมือองค์กรรับประกันภาครัฐในเอเชีย-แปซิฟิก
EXIM BANK เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้บริหารสูงสุดกลุ่มความร่วมมือองค์กรรับประกันภาครัฐในเอเชีย-แปซิฟิกครั้งที่ 12 (The 12th RCG CEO Meeting) เวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหารือแนวทางขยายความร่วมมือระหว่างองค์กรสมาชิก
เพื่อปรับทิศทางการดำเนินงานขององค์กรให้สามารถช่วยเหลือภาคธุรกิจในการปรับตัวรับมือกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วได้ รวมถึงส่งเสริมการดำเนินงานโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Environmental, Social, and Governance : ESG) เพื่อร่วมมือกับประชาคมโลกในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ตามแนวทางขององค์การสหประชาชาติ โดยมีนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม นายพอล ฮีนีย์ เลขาธิการองค์กรความร่วมมือด้านการรับประกัน Burne Union นายเสรี นนทสูติ กรรมการสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์กรภาครัฐ (IRDP) ร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจบนหลักการ ESG และการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ให้การต้อนรับและร่วมเสวนาเกี่ยวกับ ESG ภารกิจสำคัญเร่งด่วนของโลก ณ โรงแรมคาเพลลา กรุงเทพ
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การปรับทิศทางการดำเนินงานขององค์กรต่าง ๆ โดยคำนึงถึง ESG มิใช่เพียงข้อกังวลในระดับประเทศหรือระดับภูมิภาคเท่านั้น หากแต่เป็นภารกิจภาคบังคับที่ประชาคมโลกต้องร่วมกันเร่งลงมือทำเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จ โดยเฉพาะในกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกซึ่งมีหลายประเทศที่เป็นต้นแบบด้านการนำหลักการ ESG มาสู่การปฏิบัติ การพัฒนาอย่างยั่งยืน การกำกับดูแลกิจการที่ดีและความรับผิดชอบสังคมและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการคลัง ซึ่งรวมถึงสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (Specialized Financial Institution : SFI) อย่าง EXIM BANK พร้อมทำงานร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชน โดยใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญของแต่ละองค์กรกำหนดมาตรฐานการดำเนินธุรกิจร่วมกันบนหลักการ ESG นำไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนของโลก
นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า ท่ามกลางปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก อาทิ อุณหภูมิโลกและมลพิษทางอากาศที่เพิ่มสูงขึ้นจนทำให้มีภัยพิบัติเกิดขึ้นมากมาย ประกอบกับความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ และอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในภาคการเงินการธนาคาร ล้วนเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึง EXIM BANK ในฐานะ SFI สังกัดกระทรวงการคลัง วางเป้าหมายสู่การเป็น Green Development Bank มีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อสีเขียวจาก 28% ในปี 2565 เป็น 50% ภายในปี 2571 โดยพัฒนาบริการด้านสินเชื่อและเครื่องมือทางการเงินอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนธุรกิจที่คำนึงถึง ESG เช่น การออก Green Bond การให้สินเชื่อในลักษณะ Sustainability Linked Loan (SLL) ตลอดจนมีแผนพัฒนานวัตกรรมทางการเงินด้วยการระดมทุนในรูปแบบ Blue Bond เพื่อสนับสนุนโครงการที่เป็นประโยชน์กับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเล การพัฒนาผลิตภัณฑ์ Green Finance อย่างต่อเนื่องให้ครอบคลุมทั้ง Scope 1-2-3 (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง ทางอ้อมที่เกิดจากการใช้พลังงาน และทางอ้อมอื่น ๆ จากการดำเนินงานขององค์กร) รวมถึงบริการรับประกันซึ่งเปรียบเสมือนเกราะป้องกันความเสี่ยงของธุรกิจให้สอดคล้องกับเป้าหมายและยุทธศาสตร์ของธนาคาร เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน และบูรณาการกับทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประชาคมโลก
ทั้งนี้ การประชุม RCG CEO Meeting จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อให้สมาชิกกลุ่มความร่วมมือองค์กรรับประกันภาครัฐในเอเชีย-แปซิฟิก (Regional Co-operation Group : RCG) 12 ประเทศ ประกอบด้วย องค์กรรับประกันการส่งออกแห่งชาติของอินโดนีเซีย (ASEI) องค์กรรับประกันการส่งออกประเทศประเทศอินเดีย (ECGC) องค์กรการส่งออกแห่งประเทศออสเตรเลีย (EFA) บริษัทประกันสินเชื่อเพื่อการส่งออกของฮ่องกง (HKECIC) องค์กรประกันเพื่อการส่งออกเกาหลีใต้ (K-SURE) องค์กรรับประกันแห่งประเทศญี่ปุ่น (NEXI) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งมาเลเซีย (MEXIM) บริษัทรับประกันการส่งออกแห่งประเทศจีน (SINOSURE) องค์การวิสาหกิจของสิงคโปร์ (Enterprise Singapore) องค์กรรับประกันการส่งออกประเทศศรีลังกา (SLECIC) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของไต้หวัน (TEBC) และ EXIM BANK ประเทศไทย ร่วมแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ แนวคิดเชิงนโยบาย และข้อมูลข่าวสาร รวมถึงรับทราบข้อมูลสถานการณ์ตลาดการเงินโลก ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่อาจท้าทายเศรษฐกิจโลกในอนาคต อันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การให้บริการ รวมถึงปรับปรุงกลยุทธ์การตลาดขององค์กรสมาชิก ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางการตลาดในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศสมาชิก เพื่อต่อยอดความร่วมมือด้านการรับประกันและการพัฒนาอย่างยั่งยืน