SAM จับมือสถาบันอนุญาโตตุลาการ ร่วมมือลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU)
SAM จับมือสถาบันอนุญาโตตุลาการ ร่วมมือลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU)
บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือกับสถาบันอนุญาโตตุลาการ (Thailand Arbitration Center: THAC) เพื่อส่งเสริม สนับสนุนและประสานความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงานให้มีการระงับข้อพิพาททางเลือก ซึ่งเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่ช่วยให้ทางลูกหนี้และเจ้าหนี้ มีทางเลือกในการแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ โดยพิธีลงนามความร่วมมือครั้งนี้จัดขึ้นที่สถาบันอนุญาโตตุลาการ (Thailand Arbitration Center: THAC) อาคารภิรัช ทาวเวอร์ ชั้น 26 ถนนสุขุมวิท แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ
นางสิรินารถ แน่งอนงค์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM กล่าวว่า SAM รู้สึกยินดีที่ได้ร่วมมือด้านการระงับข้อพิพาททางเลือกกับสถาบันอนุญาโตตุลาการ (Thailand Arbitration Center: THAC) ในการช่วยเหลือลูกหนี้และเจ้าหนี้ให้มีทางเลือกในการแก้ไขปัญหาหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยุติข้อพิพาทระหว่างกันได้โดยเร็ว สามารถกลับไปดำเนินชีวิตหรือธุรกิจได้ตามปกติ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของ SAM ในฐานะเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ภาครัฐ มุ่งเน้นการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้เป็นลำดับแรก โดยคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ เพื่อช่วยให้ลูกหนี้ที่มีศักยภาพสามารถดำเนินชีวิตและธุรกิจต่อไปได้อย่างมีคุณภาพ อันจะส่งผลต่อความมั่นคงของระบบสถาบันการเงินและเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม
นางสาวมัชฌิมธร คัมภิรานนท์ รองผู้อำนวยการสถาบันอนุญาโตตุลาการ แทนผู้อำนวยการสถาบันอนุญาโตตุลาการ เปิดเผยว่า ปัจจุบันกลุ่มลูกหนี้และเจ้าหนี้ มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ข้อพิพาทต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องนั้นก็เพิ่มขึ้นสูงเช่นกัน รวมถึงเจ้าหนี้และลูกหนี้จำนวนมากยังคงเลือกใช้การระงับข้อพิพาททางหลักหรือการไปขึ้นศาลอยู่ ซึ่งใช้ระยะเวลาที่ค่อนข้างนาน ส่งผลให้เกิดความเสียหายโดยรวม ทั้งด้านเวลา และ ค่าใช้จ่าย ความร่วมมือกันระหว่าง THAC กับ SAM ครั้งนี้ เป็นการสนับสนุนให้มีการใช้การระงับข้อพิพาททางเลือก เช่น การประนอมข้อพิพาท และ การอนุญาโตตุลาการ โดยยังไม่ต้องให้ไปถึงขึ้นที่ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด ซึ่งนับได้ว่าจะส่งผลดีกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้มีทางเลือกในการระงับข้อพิพาทที่สะดวก รวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่าย ส่งผลสำคัญในการแก้ไขปัญหาหนี้สิน เพื่อความมั่นคง ยั่งยืนของระบบเศรษฐกิจไทย ทั้งในภาวะปกติและวิกฤต
นางสิรินารถ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอบเขตความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงานต่อจากนี้ จะครอบคลุมถึงการประสานความร่วมมือในการส่งเสริมสนับสนุนทางวิชาการ อาทิ การร่วมมือกันดำเนินการระงับข้อพิพาททางเลือก การฝึกอบรม การสัมมนา การประชุมทางวิชาการ การพัฒนาบุคลากร และกิจกรรมทางวิชาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการระงับข้อพิพาททางเลือก การสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร หรือองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการระงับข้อพิพาททางเลือก รวมทั้งการส่งเสริมและสนับสนุนการประชาสัมพันธ์การระงับข้อพิพาททางเลือกในช่องทางต่างๆของ SAM อย่างเต็มที่