พพ. ร่วมกับ กรมป่าไม้
ช่วยประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 77 แห่ง
ช่วยประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 77 แห่ง ได้เข้าถึงพลังงานสะอาด ลดการใช้พลังงาน โดยมุ่งสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ มีครัวเรือนที่ได้รับผลประโยชน์กว่า 10,000 ครัวเรือน ประชาชนได้รับประโยชน์มากกว่า 53,000 คน ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้ถึง 62 ล้านบาทต่อปี เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรประมาณ 78 ล้านบาทต่อปี และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) ประมาณ 4,700 ตันต่อปี
นาย ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า พพ.ได้ดำเนินโครงการสนับสนุนการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเพื่อตอบสนองโครงการ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยได้รับงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานปี 2564 โดยจะช่วยให้ประชาชนและเกษตรกรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นพื้นที่ห่างไกลมีการใช้พลังงานทดแทน และใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ยกระดับผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน สร้างรายได้ สร้างอาชีพ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
โครงการฯ ดังกล่าว พพ.ได้ให้การสนับสนุนผ่านกรมป่าไม้ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยได้ดำเนินการในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงใหม่ จ.ลำพูน จ.แม่ฮ่องสอน จ.ตาก จ.เชียงราย จ.ลำปาง จ.แพร่ จ.น่าน จ.สระบุรี และ จ.เลย รวมทั้งหมด 77 โครงการ โดยแบ่งตามพื้นที่โครงการ ดังนี้ พื้นที่มูลนิธิโครงการหลวง จำนวน 29 โครงการ พื้นที่ภายใต้การดูแลของสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) จำนวน 47 โครงการ และพื้นที่ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาสร้างป่าสร้างรายได้ ตามพระราชดำริฯจำนวน 1 โครงการ รวมวงเงินสนับสนุนประมาณ 347 ล้านบาท สำหรับเทคโนโลยีที่ให้การสนับสนุน อาทิ ระบบสูบน้ำพลังงานอาทิตย์ ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจก ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับห้องเย็น ระบบผลิตไฟฟ้า mini grid แบบรวมศูนย์ ระบบผลิตไฟฟ้าส่องสว่างสาธารณะ ระบบผลิตก๊าซชีวภาพ เตาชีวมวล เตาย่างไก่ เตานึ่งก้อนเห็ด เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการติดตั้งเทคโนโลยีที่ได้รับการสนับสนุน ซึ่งได้ติดตั้งไปแล้วประมาณ 70%
“จากการดำเนินโครงการฯ ดังกล่าว จะช่วยให้ประชาชนและเกษตรกรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 10,000 ครัวเรือน กว่า 53,000 คน ได้รับประโยชน์สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานจากค่าไฟและ ค่าเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันดีเซล LPG ฟืน ถ่านไม้ เกิดผลประหยัดประมาณ 1.52 ktoe ต่อปี คิดเป็นเงินกว่า 62 ล้านบาทต่อปี เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรประมาณ 78 ล้านบาทต่อปี ช่วยลดการปล่อยก๊า คาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) ประมาณ 4,700 ตันต่อปี จากการมีน้ำสำหรับพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น มีผลผลิตทางการเกษตรมากขึ้นจากเทคโนโลยีระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ แต่เดิมมีแหล่งน้ำแต่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึงไม่สามารถนำน้ำจากแหล่งน้ำมาเพาะปลูกได้ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่มากขึ้นจากเทคโนโลยีระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจก และจากการถนอมผลผลิตทางการเกษตรทำให้ไม่เน่าเสียจากเทคโนโลยีระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับห้องเย็น มีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิต ที่ดีขึ้นจากการที่มีไฟฟ้าใช้โดยเทคโนโลยีระบบผลิตไฟฟ้า mini grid แบบรวมศูนย์ และมีความสะดวกในการ เดินทางสัญจร หรือการขนส่งผลิตผลทางการเกษตร หรือผลิตภัณฑ์ในเวลากลางคืนจากเทคโนโลนีระบบผลิตไฟฟ้าส่องสว่างสาธารณะ” นาย ประเสริฐกล่าว