“บีซีจี” ดันไทยสู่ตลาดไฮเอนด์อุตฯ พลาสติกและยาง
มสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟเชื่อมั่น “บีซีจี” ดันไทยสู่ตลาดไฮเอนด์อุตฯ พลาสติกและยาง
บริษัท เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย ชี้ภาคอุตสาหกรรมพลาสติกและอุตสาหกรรมยางของประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตสดใสตามดีมานต์ตลาดโลก สอดรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมกลุ่มยานยนต์ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง ทั้งนี้ ได้เตรียมจัดงาน มหกรรมแสดงสินค้านานาชาติด้านอุตสาหกรรมพลาสติกและยาง หรือ International Trade Fair for the Plastics and Rubber Industries : T-PLAS 2023 เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมทั้ง 2 ประเภท และตอกย้ำการเป็นผู้ผลิตที่สำคัญของโลกและภูมิภาค โดยมุ่งเน้นการรีไซเคิลยางและพลาสติกเพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ในวันที่ 20 – 23 กันยายน 2566
นายเกอร์นอท ริงลิ่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย กล่าวว่า จากการศึกษาภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย พบว่าไทยเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขนาดใหญ่และมีศักยภาพการผลิตสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน เป็นจุดแข็งที่ตอกย้ำการเป็นฐานการผลิตพลาสติกที่สำคัญของโลก โดยมีมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 1.0 ล้านล้านบาท นอกจากการศึกษาตลาดด้านพลาสติกแล้ว เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชียยังมีการศึกษาอุตสาหกรรมการผลิตยางของไทยซึ่งพบว่า ยางเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทยด้วยเช่นกัน โดยผลผลิตจากอุตสาหกรรมยางแปรรูปของไทยส่วนใหญ่จะส่งออกเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตผลิตภัณฑ์ยางในต่างประเทศ โดยตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ จีน มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และ อินเดีย
นอกจากนี้ ยังพบว่า อุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์พลาสติกของไทย ส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อสนับสนุนตลาดในประเทศ ขณะที่ตลาดส่งออกมีสัดส่วน 20% ของมูลค่าตลาด โดยตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ อาเซียน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังพบความน่าสนใจเพิ่มคือ ประเทศไทยมีจำนวนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์พลาสติกมากกว่า 2,800 ราย ส่วนมากเป็นผู้ประกอบการ SMEs และ อีกส่วนเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีความพร้อมในการวิจัยและพัฒนาประสิทธิภาพของเม็ดพลาสติก เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลง รวมทั้งสนับสนุนอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ และยังเป็นอันดับสองของโลกในการผลิตพลาสติกชีวภาพ (ไบโอพลาสติก) อันดับสองของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งส่วนนี้มีความน่าสนใจอย่างมากเพราะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับพืชเศรษฐกิจหลักอย่างอ้อย และมันสำปะหลัง และโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน (BCG) ได้อย่างดี
ทางด้านอุตสาหกรรมยางของไทย คาดว่าในปี 2566 – 2567 จะมีปริมาณการส่งออกขยายตัวเฉลี่ย 3 – 4 % ตามความต้องการใช้ยางแปรรูปของตลาดโลก โดยเฉพาะการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมกลุ่มยานยนต์ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงความต้องการสต๊อกยางของจีนและญี่ปุ่น แต่อย่างไรก็ตามอาจต้องเผชิญกับการแข่งขันจากคู่แข่งด้วยกันโดยเฉพาะ CLMVและจีนที่คาดว่าจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้นจากการเริ่มหันมาปลูกยางพาราเอง (ที่มา : ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงศรี)
นายเกอร์นอท กล่าวเพิ่มเติมว่า โมเดลเศรษฐกิจแบบ BCG ของไทยถือว่าเกิดขึ้นได้ทันกับกระแสโลก รัฐบาลไทยได้สนับสนุนประเด็นทางเศรษฐกิจนี้อย่างจริงจัง และในส่วนของผู้ดำเนินธุรกิจและผู้ผลิตในไทยก็ได้นำเอานวัตกรรมต่าง ๆ มาใช้เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ทั้งพลาสติกและยาง ซึ่งนอกจากจะลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมแล้วยังเป็นการสนับสนุนให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องได้มีผลิตภัณฑ์ที่แตกต่าง สร้างสรรค์ และสอดรับกับกระแสผู้บริโภคมาใช้ในทางธุรกิจ ตลอดจนช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับพลาสติกและยางโดยภาพรวมอีกด้วย
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการยกระดับความสามารถของอุตสาหกรรมพลาสติกและอุตสาหกรรมยางในประเทศไทย บริษัท เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย จึงได้เตรียมจัดงาน T-PLAS 2023 ขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมพลาสติกและยางของไทยสามารถเติบโตและก้าวไปสู่ระดับนานาชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนนำเสนอมุมมองความท้าทายของอุตสาหกรรมพลาสติกและอุตสาหกรรมยาง มุ่งเน้นไปที่การรีไซเคิลพลาสติกเพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ตั้งเป้าลดและเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง รวมถึงการรีไซเคิลพลาสติกให้ได้ 100% โดยยึดหลักการของเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นสำคัญ นอกจากนี้ได้เปิดเวทีให้แต่ละองค์กร – ธุรกิจ ฃโชว์ศักยภาพ นำเสนอโซลูชันในการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกและอุตสาหกรรมยาง ครอบคลุมตั้งแต่เครื่องจักร อุปกรณ์การทำงาน วัตถุดิบต่างๆ ชิ้นส่วนทางเทคนิค ไปจนถึงบริการภายใต้อุตสาหกรรมพลาสติกและอุตสาหกรรมยางอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มมูลค่า ดันประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมพลาสติกและอุตสาหกรรมยางแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยภายในงานได้กำหนดไฮไลท์ ดังนี้
โซนโซลูชันการรีไซเคิล ที่จะรวบรวมบริษัทชั้นนำ ผู้เชี่ยวชาญ และนวัตกร ที่ขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการรีไซเคิลในอุตสาหกรรมพลาสติก โดยบริษัทต่างๆ จะมาร่วมแชร์ประสบการณ์ในการบริหารจัดการการรีไซเคิลพลาสติก รวมถึงวิธีการรีไซเคิลลดขยะพลาสติกด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรม ผ่านการเสวนาในหลากหลายหัวข้อ โดยมีบริษัทยักษ์ใหญ่เข้าร่วมแชร์ประสบการณ์ในโซนนี้ อาทิ บริษัท มิตรผล ไบโอเทค จำกัด และ บริษัท เซอร์ม่า (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นต้น
สัมมนาด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและความท้าทายด้านความยั่งยืนสำหรับตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยแบ่งเป็น 3 ช่วง ดังนี้ ช่วงที่ 1 การหมุนเวียนและความยั่งยืน ช่วงที่ 2 ความท้าทายในการดำเนินงานบนเส้นทาง ESG และช่วงที่ 3 เอเชียตะวันออกเฉียงใต้พร้อมสำหรับเศรษฐกิจหมุนเวียนแล้วหรือไม่?
โดยมีเป้าหมายในการดึงกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ เข้ามาร่วมภายในงานไม่ว่าจะเป็น เกษตรกรรม ยานยนต์ การก่อสร้าง เคมิคอลส์ อิเล็กทรอนิกส์ พลังงาน กลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน บรรจุภัณฑ์ กลุ่มโทรคมนาคม อาหารแปรรูป คาดว่าจะมีการจับคู่ธุรกิจเพิ่มขึ้น รวมถึงการลงทุนในไทยตามนโยบายส่งเสริมการลงทุนและการจัดตั้งอุตสาหกรรมของรัฐบาล
“ต้องยอมรับว่าตลาดพลาสติกและยางเริ่มมีการแข่งขัน และการกำหนดมาตรฐานในการค้าที่ค่อนข้างรุนแรง แต่ไทยเองก็มีการปรับตัวได้ค่อนข้างดีมาก ไม่ว่าจะเป็นการยกระดับตัวเองจากการเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ขั้นต้นอย่างน้ำยางข้น ยางแผ่น สู่การต่อยอดเป็นสินค้านวัตกรรมที่มีมูลค่าและช่วยตอบสนองความต้องการ ของโลก สำหรับในส่วนของพลาสติกนอกจากจะเป็นผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพรายใหญ่ของโลกแล้ว ขณะนี้จะเห็นได้ว่าผู้พัฒนาตั้งแต่รายเล็ก – รายใหญ่ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาพลาสติกที่สามารถใช้ซ้ำ – รีไซเคิลได้ และที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการต่อยอดพลาสติกไปสู่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง เช่น เครื่องมือแพทย์ ยานยนต์ไฟฟ้า หุ่นยนต์ และอากาศยานได้อย่างดี”
สำหรับงาน T-PLAS 2023 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-23 กันยายน 2566 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ภายในงานมีการจัดแสดงสินค้าอุตสาหกรรมพลาสติกและอุตสาหกรรมยางจากองค์กรชั้นนำทั่วโลก สามารถติดตามการจัดงานงาน T-PLAS 2023 ได้ที่ https://www.tplas.com/