ศุภชัย เจียรวนนท์ และ พงศธร ทวีสิน คว้า รางวัล
ศุภชัย เจียรวนนท์ และ พงศธร ทวีสิน คว้า “รางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศ” ประจำปี 2565รางวัลเกียรติคุณสูงสุดสำหรับบุคลากรทางด้านเทคโนโลยี
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานที่ปรึกษามูลนิธิรางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศ พระราชทาน “รางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศ” ครั้งที่ 3 (ประจำปี 2565) ให้แก่2 ผู้บริหารจากภาคเอกชน ได้แก่ นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ และนายพงศธร ทวีสิน อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. บุคคลผู้สร้างคุณูปการทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ในการพัฒนาและนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาบริหารจัดการธุรกิจ ส่งผลให้เกิดประโยชน์แก่สังคมส่วนรวมและประเทศชาติ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์และเป็นรูปธรรม สมควรได้รับการยกย่อง เชิดชูเกียรติ ให้เป็นแบบอย่างของการมุ่งมั่นสร้างและวางรากฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศไทย รวมถึงนำไปประยุกต์ใช้และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมอย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง รางวัลพระราชทาน ประกอบด้วย เข็มเชิดชูเกียรติทองคำ โล่พร้อมใบประกาศเกียรติคุณ และเงินรางวัล 2,000,000 บาท โดยทั้ง 2 ท่านได้แสดงเจตนารมณ์ไม่รับเงินรางวัล เพื่อให้มูลนิธิฯ นำไปบริหารและสร้างประโยชน์ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศชาติต่อไป
นาย ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศ กล่าวว่า “มูลนิธิรางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศ” ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานชื่อมูลนิธิฯ และพระราชทานพระราชานุญาตให้เชิญอักษรพระนามาภิไธย “ส.ธ.” ประดับที่ตราสัญลักษณ์ของมูลนิธิฯ และพระราชทานชื่อรางวัลว่า “รางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศ” นับเป็นมงคลอย่างยิ่ง
ด้วยมูลนิธิเล็งเห็นถึงความสำคัญของบุคลากรทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ จึงได้จัดรางวัลนี้ขึ้น เพื่อเป็นกำลังใจให้แก่บุคลากรทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในการเดินหน้ามุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นคุณประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ ถือว่าเป็นรางวัลสูงสุดทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของคนไทย เพื่อคนไทย ซึ่งยังไม่เคยมีองค์กรใดในประเทศไทยจัดมาก่อน มูลนิธิเปิดตัวรางวัลเมื่อปี พ.ศ.2563 โดยมูลนิธิได้เชิญชวนหน่วยงาน องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน มูลนิธิ สมาคม สถาบันการศึกษา เสนอชื่อบุคคลที่สมควรได้รับรางวัลมายังมูลนิธิฯ คณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วย คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 7 ท่าน โดยมีศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ เกษม วัฒนชัย เป็นประธาน และคณะกรรมการมูลนิธิฯ 11 ท่าน ได้พิจารณากลั่นกรองอย่างเข้มข้น ในปี พ.ศ.2563 ศาสตราจารย์ ดร. ไพรัช ธัชยพงษ์ ได้รับรางวัลพระราชทานเป็นท่านแรก และในปี พ.ศ.2564 ดร.รอยล จิตรดอน เป็นท่านที่สอง สำหรับปี พ.ศ.2565 คณะกรรมการมีมติให้มีผู้ได้รับพระราชทานรางวัล 2 ท่าน ได้แก่ นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ และนายพงศธร ทวีสิน อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ซึ่งทั้ง 2 ท่านเป็นบุคคลที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์และเป็นรูปธรรม ในการเป็นผู้ริเริ่ม คิดค้น พัฒนา ผลักดัน สร้างนวัตกรรม ประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศ และวางรากฐานที่เป็นประโยชน์ ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดี ก่อให้เกิดคุณูปการอย่างใหญ่หลวงแก่เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข การศึกษา ฯลฯ ของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ เป็นแบบอย่างทั้งทางจริยธรรมและการทำงานอย่างทุ่มเท สมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติตามเจตนารมณ์ของการให้รางวัลนี้
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นผู้มีความมุ่งมั่นและตั้งใจใช้ศักยภาพของเครือเจริญโภคภัณฑ์และกลุ่มธุรกิจในเครือฯ นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาเป็นพลังขับเคลื่อน สร้างสรรค์นวัตกรรมให้เกิดประโยชน์แก่สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และประเทศชาติ เครือเจริญโภคภัณฑ์ดำเนินธุรกิจมากว่า 100 ปี ครอบคลุมทั้งอุตสาหกรรมอาหาร โทรคมนาคม ยึดหลักของการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อส่วนรวม รวมถึงผู้ด้อยโอกาส เพื่อนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ผลงานโดดเด่น เช่น บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)นำเทคโนโลยีดิจิทัลร่วมขับเคลื่อนยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย โดยริเริ่ม “โครงการสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED”เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในวงการการศึกษา ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนจนนำไปสู่การจดทะเบียนจัดตั้ง “มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเนกซ์อีดี” นอกจากนี้ยังได้พัฒนาแอปพลิเคชัน “ทรู สมาร์ต เมอร์ชันต์“(True Smart Merchant) เพื่อนำเทคโนโลยีมาช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการรายย่อย ช่วยจัดการข้อมูลทั้งการทำโปรโมชั่น ช่วยกระตุ้นยอดขาย การสรุปประมวลข้อมูลยอดขายรายวัน สำหรับบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกับ บริษัท เซอร์ทิส จำกัด ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชัน พัฒนาเทคโนโลยีบริหารและจัดการฟาร์ม “CPF AI FarmLab Powered by Sertis” เป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอมาวิเคราะห์ ประมวลผล เพื่อจดจำ และศึกษาข้อมูลจำนวนมากมาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ พลิกโฉมสู่การเป็น Smart Farm เพิ่มประสิทธิภาพและลดความเสียหายให้แก่ฟาร์ม ซึ่งช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและกระจายรายได้สู่เกษตรกรท้องถิ่นได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน เป็นต้น
นายพงศธร ทวีสิน อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม และขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างเป็นรูปธรรม ให้มีความยั่งยืนควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน มีการขยายผลก่อให้เกิดคุณประโยชน์ต่อภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม เศรษฐกิจ สังคม และประเทศในวงกว้าง รวมถึงผู้ด้อยโอกาส ผลงานโดดเด่น ได้แก่ การสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมของประเทศในโครงการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และริเริ่มให้มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ปตท.สผ. การพัฒนาขีดความสามารถบุคลากร โดยจัดตั้งบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (ARV) ซึ่งมีภารกิจหลักในการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ (AI & Robotics) ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้พัฒนาเทคโนโลยีทางด้านการแพทย์และผลิตอุปกรณ์ที่ทันสมัยซึ่งมีความขาดแคลนและมีความต้องการเร่งด่วน รวมถึงสนับสนุนเงินทุนวิจัยพัฒนาวัคซีนของสถาบันวิจัยในประเทศไทย การพัฒนาและผลิตเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อแบบแรงดันลบ และกล่องทำหัตถการแรงดันลบ ส่งมอบไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ การพัฒนาและผลิตหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรค “เอ็กซ์เตอร์ไลเซอร์”ส่งมอบให้แก่หน่วยงานสังกัดกรมควบคุมโรค การพัฒนาและผลิตอุปกรณ์ตรวจวัดอุณหภูมิและควบคุมห่วงโซ่ความเย็นส่งมอบให้กระทรวงสาธารณสุข เพื่อติดตามอุณหภูมิการจัดเก็บวัคซีนแบบ Real Time ช่วยให้การบริหารจัดการเก็บรักษาวัคซีนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และแสดงพิกัดสถานที่จัดเก็บวัคซีนได้ และผลงานที่ช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงในภาคการเกษตร เช่น การพัฒนาบริการจับคู่ธุรกิจฉีดพ่นแปลงเกษตร (Service Matching) ระหว่างเกษตรกรที่มีความต้องการใช้การฉีดพ่นปุ๋ยกับนักบินโดรนเกษตร การพัฒนาบริการวิเคราะห์ข้อมูลประเมินผลผลิต (Smart Credit)โดยใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร การพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) เทคโนโลยีที่ช่วยบริหารจัดการพื้นที่และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของเกษตรกร ด้วย “Varuna Platform” และแอปพลิเคชัน “VARUN” ที่ช่วยวาดแปลง และฟังก์ชั่นติดตามสุขภาพพืช ทำนายผลผลิต การพัฒนาเทคโนโลยีการจัดการพื้นที่ป่าไม้ และพื้นที่สีเขียวอัจฉริยะ (Smart Forestry)เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศผสมผสานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูง เพื่อวิเคราะห์และจัดสรรพื้นที่สีเขียว คำนวณและติดตามตัวเลขการดูดซับคาร์บอนจากพื้นที่เป้าหมาย เป็นต้น