ร่วมสร้างนวัตกรรม “เชิงพุทธ” เลิกสุราด้วยหลักธรรม
ร่วมสร้างนวัตกรรมแก้ปัญหาสุรา “รูปแบบเชิงพุทธ” ใช้หลักธรรมนำสติปัญญามองหาคุณค่าในชีวิต ผนึกกำลัง 3 ฝ่าย พระสงฆ์ บุคลากรสุขภาพ ผู้นำชุมชน กลไกขับเคลื่อนชุมชนปลอดเหล้า ครอบครัวอบอุ่น มีวัดเป็นศูนย์กลาง ลด ละ เลิก เน้นจัดกิจกรรมฝึกสติสมาธิ รักษาศีล ค้นหาเหตุแห่งทุกข์จนหลุดพ้นวังวนน้ำเมา นำร่องแล้ว 8 วัด เตรียมขยายผลต่อเนื่อง พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตเน้นความมั่นคงทางอาหารและทักษะอาชีพไว้รับมือวิกฤตโควิด – 19
นางสาวรักชนก จินดาคำ หัวหน้าโครงการขับเคลื่อนการดูแลผู้มีปัญหาสุราโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่าการดูแลผู้มีปัญหาสุรา สิ่งสำคัญ คือ ต้องเชื่อมั่นชุมชนมีศักยภาพในการจัดการปัญหาและพัฒนาชุมชนได้ โครงการฯ จึงได้ดำเนินการนำนวัตกรรมรูปแบบการดูแลผู้มีปัญหาสุรา โดย “รูปแบบเชิงพุทธ” ใช้หลักธรรมนำสติปัญญามองหาคุณค่าในชีวิต มาขยายผลในพื้นที่ชุมชนที่มีความพร้อม
โดยมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะองค์ความรู้การดูแลผู้มีปัญหาสุราให้กับผู้นำชุมชน 3 ฝ่ายหลักได้แก่ 1.พระสงฆ์ 2.บุคลากรสุขภาพ และ3.ผู้นำชุมชน หรืออสม. ในการนำความรู้ความเชี่ยวชาญของแต่ละฝ่ายมาผนึกกำลัง ร่วมกันดูแลผู้มีปัญหาสุราในชุมชน ออกแบบให้คณะทำงานชุมชนสามารถคัดกรอง ประเมินระดับการดื่มของผู้มีปัญหาสุราในชุมชน สร้างแรงจูงใจ ชักชวนให้ตระหนักถึงปัญหา พร้อม และสมัครใจเข้าร่วมกิจกรรม กระบวนการจะมุ่งเน้นกิจกรรมปฏิบัติในวัด 7 วัน 6 คืน มีกิจกรรมในด้านความรู้เรื่องโทษพิษภัยและการจัดการภาวะอยากสุรา ตลอดจนการดูแลสุขภาพ จากบุคลากรสุขภาพ สลับกับการปฏิบัติธรรม เจริญสติ จากพระสงฆ์ และได้รับการดูแลพูดคุย ได้รับกำลังใจให้อยู่กิจกรรมครบตามกำหนด จน ลด เลิกสุราได้ จากผู้นำชุมชน
ทั้งนี้การอยู่ในวัดของกลุ่มเป้าหมาย จะมีครอบครัว เข้ามาร่วมให้กำลังใจ โดยเฉพาะวันสุดท้าย มีกิจกรรมบายศรีสู่ขวัญและรับกลุ่มเป้าหมายกลับบ้าน สร้างความอบอุ่นและมั่นใจในการลด ละ เลิกสุรา เมื่อกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านกับครอบครัว สำหรับพื้นที่ที่มีการดำเนินงานได้แก่ 1.วัดเกาะตาเถียร ต.ไม้งาม อ.เมือง จ.ตาก 2.วัดคลองกระจง ต.คลองกระจง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย 3.วัดโพธิ์ชัย ต.ปอพาน อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม 4.วัดค้อธิ-หนองม่วง ต.นาเชือก อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม 5.วัดไพรจิกวราราม ต.กุดหวาย อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ 6.วัดป่าก้าว ต.โนนสมบูรณ์ อ.นาจะหลวย จ.อุบลราชธานี 7.วัดบ้านใหญ่ ต.ครบุรี อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา และ 8.วัดใหม่สามัคคีธรรม ต.ในเมือง อ.พิมาย จ.นครราชสีมา
น.ส.รักชนก กล่าวว่า การดูแลผู้มีปัญหาสุราโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน รูปแบบเชิงพุทธ มีเป้าหมายให้เกิด กลไกขับเคลื่อนการดูแลผู้มีปัญหาสุราโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน มีการพัฒนาศักยภาพผู้นำ 3 ฝ่ายหลัก พระสงฆ์ บุคลากรสุขภาพและ ผู้นำชุมชนหรืออสม. มีความรู้ เรื่องสุรา มีทักษะในการดูแลผู้มีปัญหาสุรา มี ความรู้ในการคัดกรองประเมินระดับการดื่ม ตลอดจนมีกระบวนการติดตามประเมินผลที่เป็นกัลป์ญาณมิตรได้แก่ การเยี่ยมบ้าน การนัดหมายมาปฏิบัติธรรมในวันพระ อย่างต่อเนื่องในระยะ 3 เดือน 6 เดือน 9 เดือน และ 12 เดือน เพื่อให้คณะทำงานเกิดกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นระบบ มีรูปแบบ ขั้นตอนการดำเนินงานที่ชัดเจน เป็นบทเรียนและประสบการณ์นำไปสู่ความมั่นใจในการดำเนินงาน เป็นกลไกพื้นที่ระดับชุมชนในการแก้ปัญหาสุราอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน และในสถานการณ์โควิด 19 ทางโครงการฯยังได้ออกแบบแนวทางที่ให้ทางคณะทำงานชุมชนและกลุ่มเป้าหมายผู้มีปัญหาสุราได้คิดกิจกรรมในมิติการสร้างคุณภาพชีวิต อาทิ ความมั่นคงทางอาหาร ทำการเกษตรปลอดสารพิษ การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ การสร้างทักษะอาชีพ มุ่งเน้นการพึ่งตนเอง การส่งเสริมให้เกิดคุณค่าในตนเอง เป็นพลังแห่งการฟื้นคืนและการใช้ชีวิตที่สำคัญ
พระครูประทีปจันทรังษี เจ้าคณะตำบลไม้งาม เจ้าอาวาสวัดเกาะตาเถียร ต.ไม้งาม อ.เมือง จ.ตาก กล่าวว่า เริ่มแรกเลยคือการเชิญชวนญาติโยมมางดเรื่องเหล้า บุหรี่ ในช่วงไตรมาสเข้าพรรษา อันนี้ทำมา 8 ปี พอทราบว่ามีโครงการที่ขับเคลื่อนดูแลผู้ติดสุรา อย่างน้อยๆ ก็คือเราเห็นปัญหาของชุมชน ในสังคม ว่างานพิธีบุญต่างๆ ก็มีแต่สิ่งเหล่านี้เข้ามา เห็นได้ว่าสภาพของคนในสังคม มันหมกมุ่นอยู่กับการดื่ม แล้วคุณภาพชีวิตเขาไม่มั่นคง การดำเนินงานโครงการฯมีแนวทางให้พระสงฆ์ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และผู้นำชุมชน อสม. ได้ทำงานร่วมกัน ซึ่งเหมาะสมกับชุมชนในสังคมไทย อีกทั้งในช่วงสถานการณ์โควิด 19 ทางเรายังได้คิดกิจกรรมการเพิ่มทักษะการทำเกษตรปลอดสารพิษ เป็นการสร้างทักษะพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีปัญหาสุราที่เข้าร่วมโครงการ เป็นทางเลือกในการพึ่งตนเอง สร้างคุณค่าให้กับตนเองมีกำลังใจในการใช้ชีวิต ไม่หดหู่กับความคิดเดิมๆ จนหันไปพึ่งสุราอีกต่อไป
นางอุไรวรรณ ฐิติวัฒนากูล พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านโคกเทียม ต.โนนสมบูรณ์ อ.นาจะหลวย จ.อุบลราชธานี กล่าวถึง การดำเนินกิจกรรมการดูแลผู้มีปัญหาสุราในรูปแบบเชิงพุทธ ที่วัดป่าก้าว หลังจากที่มีกิจกรรมในวัด 7 วัน 6 คืน มีการติดตามโดยคณะทำงานสาธารณสุข พระสงฆ์และผู้นำชุมชน อสม. มีการติดตามเยี่ยมบ้านของกลุ่มเป้าหมาย และมีการนัดหมายมาที่วัดในวันพระ มาปฏิบัติธรรมและบำเพ็ญประโยชน์ให้กับวัด คณะทำงานวัดป่าก้าว ได้ออกแบบกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้วยกิจกรรมพัฒนาทักษะการทำไม้กวาดทางมะพร้าวไว้ใช้ในครัวเรือนและจำหน่าย ทั้งนี้มีแผนในการปลูกสมุนไพรในชุมชน การทำตู้อบสมุนไพร สมุนไพรสำหรับลดอาการอยากดื่มสุรา ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่มีมานาน มีแผนในการได้รับงบประมาณสนับสนุนต่อยอดจากกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลโนนสมบูรณ์ จำนวน 50,000 บาท ทำให้คณะทำงานมีกำลังใจในการดำเนินงานดูแลผู้มีปัญหาสุราและปัญหาสุขภาวะของสมาชิกในชุมชน
นายสังวรณ์ สมบัติใหม่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ กล่าวว่า การดูแลผู้มีปัญหาสุรารูปแบบเชิงพุทธกับการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาผู้ติดสุราผู้พลาดพลั้งจนติดสุราเป็นคนที่มีความทุกข์ ทรมาน ทั้งกาย จิตใจ ครอบครัว สังคม เศรษฐกิจ และคุณค่า ความภาคภูมิใจ วนเวียน จนหาทางออกไม่ได้เหมือนติดอยู่ในวงจรแห่งความทุกข์ พยายามหยุด เลิก ด้วยสารพัดวิธี แต่สุดท้ายต้องพ่ายแพ้ วนกลับไปที่เดิม ทางโครงการฯกำลังศึกษาและพัฒนาการใช้แนวทางเชิงพุทธในการแก้ไขปัญหานี้ด้วยการเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรม ฝึกการมีสติ สมาธิ ทำจิตใจให้สงบ รักษาศีล มุ่งมั่นด้วยตนเอง ค้นหาเหตุแห่งทุกข์ เลือกมรรควิธีที่เหมาะสม หาทางออกที่มีประสิทธิภาพ จัดให้มีแผนการฟื้นคืนสภาพอย่างยั่งยืน ด้วยการสนับสนุนประคับประคองช่วยเหลือจากชุมชน การมีส่วนร่วมของชุมชนและมีกระบวนการวัดผล การติดตามในหลักการทางวิชาการประกอบกับความเข้าใจ ความเมตตา ที่มีต่อผู้มีปัญหาสุรา