เดลต้าคว้ารางวัลพลังงานอาเซียน
บมจ. เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) ได้รับรางวัลพลังงานแห่งภูมิภาคอาเซียน ประจำปี พ.ศ. 2563 (ASEAN Energy Awards 2020) ประเภทจัดการพลังงานอุตสาหกรรม สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ (Energy Management for Industry Category – Large Industry) รางวัลนี้มอบโดยศูนย์พลังงานอาเซียน (ASEAN Centre for Energy: ACE) สำหรับความสำเร็จของเดลต้าในการลดใช้พลังงาน ณ เดลต้าโรง 6 นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์
นายจอห์นนี่ แทม ผู้จัดการเดลต้าประจำประเทศอินโดนีเซีย ในฐานะตัวแทนของบริษัทฯ รับรางวัลผ่านพิธีมอบรางวัลรูปแบบเสมือนจริงออนไลน์ โดยมีศูนย์พลังงานอาเซียน (ACE) เป็นเจ้าภาพ
โดยเดลต้าโรงงานหมายเลข 6 ของเดลต้า ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2545 จังหวัดฉะเชิงเทรา อยู่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เพื่อเป็นศูนย์การวิจัยและพัฒนา (R&D) และศูนย์การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และผลิตภัณฑ์ด้านการจัดการความร้อน พัดลมDCมอเตอร์ อีเอ็มไอฟีลเตอร์ และโซลินอยด์ เพื่อจัดส่งแก่ลูกค้าชั้นนำของเดลต้าทั่วโลก
นอกจากนี้ เดลต้าโรง 6 เป็นโรงงานสีเขียวที่มีการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา กำลังการผลิต 2 เมกะวัตต์ เพื่อใช้ภายในโรงงาน โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560-2562 ทีมบริหารจัดการพลังงานของเดลต้า ได้ริเริ่มและดำเนินโครงการประหยัดพลังงานถึง 31 โครงการ ทำให้ประหยัดพลังงานไปได้รวม 6,962 เมกะวัตต์-ชั่วโมง คิดเป็นมูลค่ากว่า 25,000 ล้านบาท (827 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) และยังสามารถลดค่าการใช้พลังงานจำเพาะ (Specific Energy Consumption: SEC) ได้เกินกว่าเป้าหมายเดิมที่กำหนดไว้อีกด้วย ซึ่งเดิมตั้งเป้าลดการใช้พลังงานลง 35% ก่อนปี พ.ศ. 2563
ระหว่างการดำเนินโครงการ ทีมบริหารจัดการพลังงานของเดลต้าได้สำรวจพบว่าเครื่องจักรที่กินพลังงานสูงสุดคือเครื่องฉีดขึ้นรูปพลาสติกในสายการผลิตพัดลมอิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้พลังงานประมาณ 25% ของทั้งหมด ทางทีมจึงได้ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานของเครื่องจักรรุ่นเก่าโดยติดตั้งระบบเพิ่มเติม ได้แก่ ฉนวนหุ้มเครื่องลำเลียง ระบบหมุนเวียนลมร้อน ถังฉนวนความร้อน และอุปกรณ์ควบคุมเครื่องจักรขึ้นรูป
ส่วนที่ใช้พลังงานมากที่สุดรองลงมาเป็นอันดับสอง ซึ่งคิดเป็น 24% คือระบบปรับอากาศภายในโรงงานที่ต้องทำงานอย่างหนักเนื่องจากความร้อนจากเครื่องฉีดขึ้นรูปพลาสติก ส่งผลให้อุณหภูมิภายในโรงงานไม่เสถียร โดยบางพื้นที่สูงเกิน 30 องศาเซลเซียส ทีมบริหารจัดการพลังงานของเดลต้าจึงแก้ปัญหาโดยปรับระดับของท่อระบายอากาศ และเปลี่ยนกระจังหน้าจากชนิดดิฟฟิวเซอร์แบบเหลี่ยมเป็นแบบเจ็ทดิฟฟิวเซอร์ที่มีแรงดันสูง
นอกจากนี้ ฝ่ายบริหารการผลิตของเดลต้ายังได้ปรับใช้กลยุทธ์การผลิตแบบลีน (Delta Thailand Lean Manufacturing: DTLM) เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของกระบวนการผลิตโดยเครื่องจักร รวมถึงกลยุทธ์การผลิตอัจฉริยะ (Delta Smart Manufacturing: DSM) เพื่อปรับใช้ระบบอัตโนมัติในสายการผลิต และหลักการบริหารแบบไคเซ็น (Kaizen management) เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
รางวัล ASEAN Energy Awards ริเริ่มในปี พ.ศ. 2557 เพื่อแสดงถึงมาตรฐานความเป็นเลิศและให้การยกย่องธุรกิจที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงาน รวมถึงช่วยขับเคลื่อนภูมิภาคไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น โดยก่อนหน้านี้ เดลต้า ประเทศไทย ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากงานประกาศรางวัล ASEAN Energy Awards ประจำปี พ.ศ. 2562 ประเภทโรงงานที่มีแนวปฏิบัติเป็นเลิศด้านประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงานของอาเซียน (ASEAN Energy Efficiency and Conservation Best Practices) และรางวัลย่อยประเภทอาคารสีเขียว (Green Building) ที่มอบให้แก่สำนักงานใหญ่ของเดลต้าซึ่งเป็นโรงงานสีเขียว
ในฐานะพลเมืองโลกและผู้ให้บริการโซลูชันสีเขียวระดับภูมิภาค เดลต้ามุ่งมั่นใช้ประโยชน์จากโซลูชันต่างๆ ของบริษัท ทั้งระบบอัตโนมัติอุตสาหกรรม ระบบปรับอากาศและระบายอากาศ (HVAC) และระบบจัดการพลังงาน เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนในประเทศไทยและอาเซียน