มจธ.ล้ำ! ใช้วิธีการ “โค้ช” ถ่ายทอดความรู้
มจธ.จับมือ สถาบันโค้ชไทย ใช้กระบวนการโค้ชซึ่งเป็นทักษะการเรียนรู้เพื่อนักเรียนในศตวรรษที่ 21 พัฒนาบุคลากรและเทคนิคการสอน ตลอดจนถ่ายทอดการเรียนรู้ด้วยวิธีโค้ช เพื่อให้สอดรับกับวิถีใหม่ คาดทำให้ผู้เรียนค้นพบศักยภาพ เกิดปัญญา และตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
จากสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของประเทศและโลกในยุคปัจจุบัน ทำให้ผู้คนต้องปรับตัวหลายด้านทั้งภายในและภายนอกให้ทันต่อยุคสมัยและความเปลี่ยนแปลง ทั้งการมองโลกใหม่ ความท้าทายใหม่ ความรู้ใหม่ ทักษะใหม่ วิธีการใหม่ กลยุทธ์ใหม่ มาตรฐานสังคมใหม่ ความเข้าใจใหม่ การยอมรับใหม่ ทัศนคติใหม่ และชีวิตใหม่
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมกับ “สถาบันโค้ชไทย” ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในโครงการพัฒนาบุคลากรและสื่อการเรียนการสอนผ่านกระบวนการโค้ช ซึ่งเป็นทั้งศาสตร์และศิลปะสากลมาประยุกต์ใช้โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาบุคลากรและเทคนิคการเรียนการสอนและสื่อการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. กล่าวว่า มจธ.และสถาบันโค้ชไทยเป็นพันธมิตรที่ร่วมกันทำกิจกรรมเพื่อสังคมมาเป็นเวลานาน ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการลงนามบันทึกข้อตกลงอย่างเป็นทางการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาให้สามารถใช้กระบวนการโค้ชชิ่งในการส่งเสริมการเรียนรู้ รวมทั้งร่วมมือกันทำวิจัยด้านการพัฒนาการเรียนรู้ เนื่องจากประเทศไทยเรากำลังอยู่ท่ามกลางการเป็นสังคมวิถีใหม่ หรือที่เรียกว่า New Normal ที่มีการเปลี่ยนแปลงมากมาย การนำองค์กรไปสู่จุดหมายใหม่ย่อมต้องใช้ผู้นำที่มีความสามารถสูง
ด้าน ดร. เทอดทูน ไทศรีวิชัย ประธานสถาบันโค้ชไทย กล่าวเสริมว่า นอกเหนือจากเป้าหมายดังที่อธิการบดีกล่าวแล้ว มจธ.และสถาบันโค้ชไทยยังร่วมกันจัดทำโครงการ “ครูไทยหัวใจโค้ช” โดยร่วมกันพัฒนาเทคนิคการสอนและสื่อการเรียนรู้ ด้วยวิธีการโค้ชให้กับโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ สถาบันการศึกษา และผู้สนใจทั่วไปเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมเทคนิคการสอน ตลอดจนถ่ายทอดการเรียนรู้ด้วยวิธีโค้ชซึ่งเป็นทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ให้กับคนรุ่นใหม่ ทั้งนักเรียน นักศึกษา และคนวัยทำงาน รวมถึงผู้บริหารในสถาบันหรือองค์กร โดยคาดว่าจะทำให้เกิดการพัฒนาบุคลากร และนักเรียน นักศึกษา ในการพัฒนาการเรียนการสอนและสื่อการสอน ที่สำคัญคือการค้นพบศักยภาพของผู้เรียนรู้ ซึ่งเป็นหัวใจของประเทศชาติ ที่จะเป็นการเรียนรู้อย่างแท้จริง มีการเรียนรู้ในลักษณะสามารถกำกับตนเอง สามารถนำศักยถาพของผู้เรียนมาใช้ได้อย่างสูงสุด อันส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของประเทศอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืนต่อไป
ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า แม้ว่าระบบการศึกษาของไทยยังมีจุดอ่อนอยู่หลายประการ แต่เราก็ไม่สามารถปฏิเสธระบบการศึกษาได้ หากต้องตระหนักว่าเนื้อหาที่เรียนอยู่ในวันนี้ จะไม่ได้คงอยู่ตลอดไป ดังนั้นผู้สอนต้องสามารถโค้ชให้ผู้เรียนมีทักษะการเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ตลอดเวลา ขณะเดียวกันก็ต้องพัฒนาระบบการศึกษาที่เน้นความเท่าเทียมของการศึกษาทั้ง “โอกาส”และ“ความเสมอภาค” ที่ต้องทำควบคู่ไปกับเรื่องคุณภาพครู ความโปร่งใส และประสิทธิภาพ ที่ทั้งหมดนี้มีหัวใจสำคัญอยู่ที่การกระจายอำนาจลงไปถึงระดับโรงเรียนให้ได้
ขณะที่ คุณธาดา เศวตศิลา ที่ปรึกษาบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้นำเสนอให้ใช้ Flipped Classroom หรือการศึกษาแบบกลับด้าน มาเป็นแนวทางสำหรับการจัดการศึกษาไทย ที่ใช้ห้องเรียนเป็นเวทีแลกเปลี่ยนในหัวข้อที่เด็กไปศึกษาค้นคว้าในเรื่องที่เขาสนใจ บทบาทของครูคือ ผู้ให้ ทำให้เด็กพูดคุยแลกเปลี่ยนและถกเถียงกันแบบ Action Learning โดยครูต้องเปิดโอกาสให้เด็กได้พูดและทำให้มากที่สุด ให้เด็กได้ลองทำ ลองผิดลองถูก และให้ความผิดนั้นเป็นครู เป็น Self-learning ให้เขาคิดและสรุปได้ด้วยตัวเขาเอง ซึ่งในที่สุดจะทำให้ผู้เรียนมีความเชื่อมั่นในศักยภาพภายใน สามารถตั้งเป้าหมายในชีวิตด้วยตัวเอง โดยคุณธาดา กล่าวเสริมในตอนท้ายว่า รูปแบบนี้พ่อแม่ก็สามารถนำไปปรับใช้ได้ ในช่วงของการพูดคุยกับลูกที่เปลี่ยนให้เขาเป็นคนกำหนดหัวข้อในการสนทนาที่เราต้องรับฟังอย่างตั้งใจด้วย