กรมบัญชีกลางปรับเพิ่มอัตราค่าอวัยวะเทียม

กรมบัญชีกลางปรับเพิ่มอัตราค่าอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรคกรมบัญชีกลางปรับอัตราค่าอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรค เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ของผู้มีสิทธิที่จำเป็นต้องใช้กายอุปกรณ์ในการดำรงชีวิตประจำวัน
ให้สามารถเข้าถึงการบริการในการบำบัดรักษาโรคที่จำเป็นและเหมาะสม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป
นางสาวอรนุช ไวนุสิทธิ์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลางได้ปรับอัตราค่าอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรค ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู เพื่อให้ประเภทและอัตราค่าอวัยวะเทียม และอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรค มีความสอดคล้องกับสถานการณ์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบัน ซึ่งในการปรับครั้งนี้จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัว รวมทั้งสามารถเข้าถึงรายการอวัยวะเทียมฯ ที่จำเป็นและเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตเพิ่มขึ้น โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ กรมบัญชีกลางได้ประกาศยกเลิกและกำหนดประเภทและอัตราค่าอวัยวะเทียมฯ ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูใหม่ จำนวนทั้งสิ้น 109 รายการ โดยเป็นการปรับเพิ่ม จำนวน 53 รายการ ปรับปรุงแก้ไขข้อบ่งชี้ คุณลักษณะ และอัตราเบิกจ่าย จำนวน 31 รายการ และสำหรับอุปกรณ์บางรายการที่ปัจจุบันไม่มีการใช้ในการรักษาพยาบาลแล้ว จึงได้ยกเลิก จำนวน 18 รายการ
รายการ และอัตราค่าอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรคใหม่ ที่ให้เบิก อาทิเช่น
แขนเทียมต่ำกว่าระดับศอกส่วนปลายชนิดห้านิ้วมีระบบการใช้งาน ข้างละ อัตราเดิม 25,000 บาท อัตราใหม่ 36,500 บาท
ขาเทียมระดับข้อเท้า ข้างละ อัตราเดิม 5,000 บาท อัตราใหม่ 11,000 บาท
รองเท้าคนพิการขนาดกลาง คู่ละ อัตราเดิม 800 บาท อัตราใหม่ 1,000 บาท
รถนั่งคนพิการชนิดพับได้ด้วยโลหะ แบบปรับให้เหมาะสมกับความพิการได้ คันละ อัตราเดิม 6,000 บาท อัตราใหม่ 6,600 บาท
โลหะดามขาชนิดสั้น ข้างละ อัตราเดิม 0 บาท อัตราใหม่ 5,500 บาท
ไม้ค้ำยันรักแร้แบบอลูมิเนียม คู่ละ อัตราเดิม 0 บาท อัตราใหม่ 650 บาท
เสริมฝ่าเท้าส่วนหน้า ข้างละ อัตราเดิม 0 บาท อัตราใหม่ 1,500 บาท
รถสามล้อโยกมาตรฐานสำหรับคนพิการ อันละ อัตราเดิม 0 บาท อัตราใหม่ 6,000 บาท
“ กรมบัญชีกลางเล็งเห็นความสำคัญของคุณภาพชีวิตของผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัว จึงได้ปรับปรุงค่าอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรค ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับการรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะรายการที่มี การใช้บริการจำนวนมาก มีความจำเป็นในการรักษาและเหมาะสมต่อการดำรงชีวิต ซึ่งการปรับปรุงดังกล่าว จะใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 7.442 ล้านบาท ของค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด ” โฆษกกรมบัญชีกลาง กล่าว