เกษตรกรหมู ชี้ ASF-โควิด ทำต้นทุนป้องกันโรคขยับ 300 บาท/ตัว

Group of pig that looks healthy in local ASEAN pig farm at livestock. The concept of standardized and clean farming without local diseases or conditions that affect pig growth or fecundity
โอดราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์พุ่งซ้ำเติม

น.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากการป้องกันโรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ หรือ ASF ในสุกร มาตลอดเวลากว่า 2 ปี ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นตลอดปี 2563 กระทั่งมีการระบาดรอบใหม่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรต้องดำเนินมาตรการป้องกันโรคที่เข้มงวดเพื่อป้องกันฝูงสัตว์ พร้อมทั้งยกระดับการป้องกันโรคโควิดในบุคลากรที่ทำงานภายในฟาร์ม เพื่อไม่ให้กระทบกับการเลี้ยงสุกรอย่างเด็ดขาด ส่งผลให้ทุกฟาร์มมีภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นสูงกว่า 300 บาทต่อตัว ขณะเดียวกัน ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้นส่งผลต่อต้นทุนการผลิตเช่นกัน ทั้งความกังวลของตลาดต่อปริมาณสต๊อกถั่วเหลืองในประเทศสหรัฐฯ ที่อาจจะปรับตัวลดลงต่ำกว่า 175 ล้านบุชเชล จากที่กระทรวงเกษตรสหรัฐฯคาดการณ์ไว้ และการเพาะปลูกถั่วเหลืองของอาร์เจนตินาที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ส่งผลต่อราคาเมล็ดถั่วเหลืองและกากถั่วเหลืองนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้น ทำสถิติสูงสุดในรอบ 5 ปี และมีแนวโน้มราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่วนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ผลิตได้ในประเทศอย่างเช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง รำ-ปลายข้าว ราคาขึ้นเช่นกัน จากมาตรการประกันรายได้เกษตรกรของภาครัฐ เพื่อพยุงราคาพืชเกษตรที่ได้รับความเสียหายจากภาวะอากาศแล้งและภัยพิบัติในช่วงปีที่ผ่านมา

ขณะที่การเลี้ยงสุกรในปัจจุบันต้องปรับตัวเข้าสู่มาตรฐานของกรมปศุสัตว์ ทั้งฟาร์มเลี้ยงสุกรขนาดใหญ่ที่ต้องทำตามมาตรฐาน GMP อย่างเคร่งครัด และฟาร์มขนาดเล็กที่ต้องมีระบบป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM) ประกอบกับการต้องลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่ม ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่กำหนดให้การเลี้ยงสุกรต้องควบคุมน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่สิ่งแวดล้อม ทั้งหมดส่งผลต่อภาพรวมต้นทุนการเลี้ยงสุกรที่ปรับตัวขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“ปัจจุบันต้นทุนการเลี้ยงสุกร ตามข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 75 บาท ขณะที่ราคาขายสุกรหน้าฟาร์มเกษตรกรตามประกาศของสมาคมผู้เลี้ยงสุกร อยู่ที่ 76-80 บาทต่อกิโลกรัม โดยต้องจับตาประกาศต้นทุนของ สศก. ในไตรมาสที่ 1/2564 ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปถึง 78 บาทต่อกิโลกรัม จากปัจจัยราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่น่าจะเพิ่มขึ้น ภาวะภัยแล้งในช่วงเดือนมีนาคมต่อเมษายน การป้องกันโรคทั้ง ASF และโควิด-19 และยังมีความสูญเสียจากโรคในสุกรที่สำคัญอย่างโรคเพิร์สทำให้ต้นทุนสูงขึ้น นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ว่าปีนี้ภาวะอากาศแปรปรวนจะรุนแรงกว่าทุกปี ฝนจะมาเร็วและหมดเร็ว ส่งผลให้ช่วงฤดูแล้งยาวนานขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยชาวหมูยังคงร่วมมือกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ในการร่วมใจกันตรึงราคาหมูหน้าฟาร์มไว้ที่ 80 บาทต่อกิโลกรัมทั่วประเทศ แม้ต้นทุนจะเพิ่มเกือบเท่าราคาขายที่ 80 บาทแล้วก็ตาม วอนผู้บริโภคเข้าใจในกลไกตลาดที่แท้จริง และสุกรเป็นสินค้าปศุสัตว์เดียวในยามวิกฤตินี้ที่สามารถนำเงินตราเข้ามาพัฒนาประเทศ” อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าว