ฟิลิปปินส์มีคนหิวโหยมากขึ้นช่วงโควิด
จำนวนชาวฟิลิปปินส์ที่มีความหิวโหยพุ่งสูงขึ้นทุบสถิติในช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 อ้างอิงจากโพลของ Social Weather Stations
หน่วยงานการกุศลประสบปัญหาในการรองรับความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากมีหลายล้านครอบครัวที่หิวโหยทั่วประเทศ มาตรการคุมเข้มโควิด-19 ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจและทำให้อัตรางานหดหาย
“ ผมไม่เคยเห็นคนหิวโหยมากถึงขนาดนี้มาก่อน” โจมาร์ เฟลราส ผอ.Rise Against Hunger ในฟิลิปปินส์ ซึ่งทำงานร่วมกับกว่า 40 พันธมิตรเพื่อช่วยเหลือด้านอาหารให้กับคนยากจน
“หากคุณออกไปข้างนอก ทุกคนจะบอกคุณว่า พวกเขากลัวว่าจะหิวจนตายมากกว่าตายจากโควิด-19 พวกเขาไม่สนใจเรื่องโควิดอีกต่อไป”
โดยข้อมูลชี้ว่า 1 ใน 3 ของครอบครัว หรือประมาณ 7.6 ล้านครัวเรือนในฟิลิปปินส์ ไม่มีอาหารเพียงพอ อย่างน้อยก็ 1 ครั้งในช่วงสามเดือนก่อนหน้านี้ อ้างอิงจากผลสำรวจเดือนก.ย.
ในบรรดาคนกลุ่มนี้ มีถึง 2.2 ล้านครอบครัว ที่มีประสบการณ์ “หิวโหยอย่างรุนแรง” สูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา
จำนวนคนที่หิวโหยเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนพ.ค. สองเดือนหลังจากประเทศมีมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้เศรษฐกิจประเทศดิ่งวูบลงที่สุดนับตั้งแต่ 2555 เป็นต้นมา
มีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในช่วงไม่กี่เดือนมานี้เพื่อให้ธุรกิจได้ดำเนินการ เนื่องจากรัฐบาลพยายามที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะหดตัวลงถึง 9.5% ในปีนี้
อาสาสมัครของ Roman Catholic order Society of the Divine World ทำงาน 5 สันต่อสัปดาห์เพื่อทำอาหารจัดใส่กล่องและแจกจ่ายให้กับผู้หิวโหยจำนวนมาก
“เราเริ่มทำในเดือนเม.ย.และเริ่มมีคนมาเข้าแถวรอ 250 คน แล้วก็เพิ่มเป็น 400 และก็ 600 , 800 และสามสัปดาห์ก่อนก็เกิน 1,000 คน” บาทหลวงฟลาวี วิลลานูเอวา ซึ่งดูแลโครงการนี้ให้สัมภาษณ์ “ส่วนใหญ่เป็นคนไร้บ้าน และมีส่วนหนึ่งที่มีบ้าน แต่ไม่มีงานทำ”
ทั้งนี้ ปัญหาความหิวโหยเป็นปัญหาสำคัญในฟิลิปปินส์ก่อนที่จะมีการระบาดของโควิด-19 อยู่ก่อนแล้ว
ประชาชนในฟิลิปปินส์ประมาณ 59 ล้านคนไม่มีความมั่นคงทางอาหารในระดับกลางไปจนถึงระดับรุนแรง ระหว่างปี 2560 – 2562 สูงที่สุดในอาเซียน จากรายงานขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ
ผลกระทบของไวรัสที่มีกับคนหิวโหยยิ่งทวีคูณขึ้นอีกหลังมีไต้ฝุ่นหลายลูกถล่มฟิลิปปินส์ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาทำลายบ้านเรือนหลายหมื่นหลัง
บาทหลวงเฟสราสระบุ มีการบริจาคอาหารมากขึ้นในช่วงการระบาด เพราะโรงงานต้องระงับการดำเนินการ ทำให้มีสต็อกค้าง แต่ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ
“ เราอาจมีคนที่ต้องการอาหารมากถึง 2 แสนครอบครัวในปีนี้”
คนไร้บ้านคนหนึ่งชื่อ ออมินโต วัย 41 ปี ที่อาศัยอยู่บนทางเท้าให้สัมภาษณ์ว่า ในปีที่แล้วเขายังมีงานทำเป็นช่างทาสีอาคาร แต่หลังจากเกิดการระบาดของโควิด เขาก็ตกงาน ต้องพาครอบครัวมานอนบนลังกระดาษริมถนน ทุกวันต้องไปเข้าแถวรอรับแจกอาหารบริจาค
เขาระบุว่า รู้สึกเจ็บปวดมากที่สูญเสียทุกอย่าง ตำรวจปฏิบัติกับพวกเขาที่นอนบนทางเท้าเหมือนเป็นสัตว์
“พวกเขาควรเข้าใจสถานการณ์บ้าง ไม่ควรทำกับเราเหมือนหมู เราเองก็มีชีวิตเหมือนหมูอยู่แล้ว”