เวียดนามผงาด เศรษฐกิจโตหนึ่งเดียวในอาเซียน
ฮานอย – เวียดนามเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ประสบความสำเร็จ เศรษฐกิจยังคงเติบโตขึ้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในขณะที่ประเทศอื่นๆต้องดิ้นรนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ
โดยตัวเลขจีดีพีของเวียดนามขยายตัวเติบโตถึง 2.6% ในไตรมาส 3 ของปีนี้ ทำให้เป็นสองไตรมาสต่อเนื่องที่เศรษฐกิจเติบโต กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ระบุว่า จีดีพของเวียดนามพุ่งขึ้นเป็นอันดับ 4 ในอาเซียนปีนี้ แซงสิงคโปร์ มาเลเซีย รวมถึงฟิลิปปินส์ด้วย
ตรงข้ามกับประเทศอื่นๆในอาเซียน คือเวียดนามสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ดีขณะที่การส่งออกช่วยหนุนการเติบโต และหลายบริษัทย้ายฐานการผลิตมาจากจีน
จนถึงเดือนต.ค.ปีนี้ ยอดส่งออกของเวียดนามเติบโต 9.9% มาอยู่ที่ 26,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 809,370 ล้านบาท และกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าคาดการณ์ว่า ตัวเลขเติบโตตลอดทั้งปีจะอยู่ที่ 3% -4%
ท่าเรือ Cai Mep ซึ่งเป็นท่าเรือน้ำลึกที่ใหญ่ที่สุดทางใต้ของเวียดนาม ทำให้ศักยภาพในการส่งออกของเวียดนามยิ่งขยายตัวเติบโต ทำให้เวียดนามขนส่่งสินค้าไปยังผู้ซื้อด้วยค่าใช้จ่ายที่น้อยลง ลดระยะเวลาการจอดเรือขนถ่ายสินค้า และทำให้ประเทศสามารถแข่งขันได้มากขึ้นในฐานะประเทศผู้ส่งออก
ความตึงเครียดทางการค้าของสหรัฐฯกับจีนเอื้อประโยชน์กับการค้าของเวียดนาม นอกจากนี้ เวียดนามยังได้อานิสงส์จากโรงงานจำนวนมากที่ย้ายฐานการผลิตมาจากจีนเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีจากสหรัฐฯ
บริษัทหลากสัญชาติ รวมถึงธุรกิจของจีนเองย้ายฐานการผลิตมาเวียดนาม เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบจากแรงงานเวียดนามมีทักษะค่าแรงต่ำ ขณะที่บริษัทซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีโรงงานผลิตสมาร์ทโฟนในเวียดนามานานกว่าทศวรรษ กำลังพิจารณาย้ายฐานการผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลมาที่เวียดนามด้วย และได้ปิดโรงงานแห่งหนึ่งแล้วในจีน
จนถึงตอนนี้ เวียดนามรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมจากโควิด-19 เพียง 1,300 ราย ส่งผลทำให้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากโควิด-19 น้อยมาก เวียดนามประกาศมาตรการล็อกดาวน์เพียง 3 สัปดาห์ในเดือนเม.ย. และโรงงานผลิตกลับมาดำเนินการได้ตามปกติอย่างรวดเร็วหลังจากนั้น ตัวเลขคนตกงานน้อย และการใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งคิดเป็น 70% ของจีดีพี ยังคงมีเสถียรภาพ
ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศอื่นๆในอาเซียนทรุดลง IMF คาดการณ์ว่า ตลอดทั้งปีนี้ เศรษฐกิจของเวียดนามจะเติบโต 1.6% เศรษฐกิจสิงคโปร์และมาเลเซียติดลบ 6% และเศรษฐกิจของประเทศไทยติดลบ 7.1%
โดยเศรษฐกิจของมาเลเซียติดลบ 2.7% ในไตรมาส 2 ถูกฉุดลงจากตัวเลขภาคบริการที่ดิ่งลงถึง 4% ทั้งนี้ ภาคบริการคิดเป็นเกือบ 60% ของจีดีพีมาเลเซีย
รัฐบาลไทยเผยข้อมูลเศรษฐกิจเมื่อวันที่ 16 พ.ย. ที่ชี้ว่า จีดีพีร่วงลง 6.4% นับเป็นสามไตรมาสต่อเนื่องที่เศรษฐกิจหดตัวลง
แม้บางประเทศในอาเซียนคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นในปีหน้า แต่เวียดนามยังคงเป็นประเทศเดียวที่จะมีการเติบโตอย่างแท้จริงในครึ่งปีแรก ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของโควิด-19
อีกปัจจัยที่อาจเป็นอุปสรรคต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของเวียดนามคือ โจ ไบเดน ว่าที่ผู้นำสหรัฐฯคนใหม่ ซึ่งคาดว่าจะยังคงท่าทีแข็งกร้าวกับจีนต่อไป แต่หากไบเดนยกเลิกมาตรการภาษีของรัฐบาลเดิมที่มีต่อสินค้านำเข้าจากจีน การย้ายฐานการผลิตมาเวียดนามอาจชะลอตัวลดลง
ปีหน้า อาจจะเห็นการส่งเสริมการลงทุนในโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคลดน้อยลง หลังรัฐบาลพยายามส่งเสริมอย่างเต็มที่ในปีนี้ ก่อนหน้าที่จะมีการประชุมสภาพรรคคอมมิวนิสต์ในเดือนม.ค.2564 อย่างไรก็ตาม การบริหารประเทศของกลุ่มผู้นำในอีก 5 ปีข้างหน้าจะเป็นตัวตัดสินสถานการณ์ทั้งหมด รวมถึงการตัดสินใจของรัฐบาลที่จะบริหารประเทศเพื่อหนุนให้เวียดนามมีความสามารถในการแข่งขันสูงสุดในระยะยาว