มาเลเซียคุยผู้ผลิต ตั้งเป้ามีวัคซีนใช้ Q1 ปีหน้า
เมื่อวันที่ 16 พ.ย. มาเลเซียอยู่ในระหว่างการพูดคุยในขั้นตอนสุดท้ายกับผู้ผลิตวัคซีน และหวังจะมีวัคซีนใช้ได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2564
ไครี จามาลุดดิน รมว.วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมระบุเมื่อวันที่ 16 พ.ย.ว่า มาเลเซียกำลังมีการพูดคุยกับผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 ที่อยู่ในระหว่างการทดลองระยะ 3 โดยผู้เข้าร่วมประชุมมี 8 รายเป็นตัวแทนจากรัฐบาล และ 2 รายจากผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 คือ Global Access Facility (COVAX)
และการพูดคุยบางส่วนอยู่ในขั้นตอนสุดท้าย และจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อทุกอย่างบรรลุผล จากถ้อยแถลงของรมว.ไครี
จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) จนถึงวันที่ 13 พ.ย. มีผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 ทั้งหมด 11 บริษัทที่อยู่ในการทดลองทางคลินิกระยะ 3
จากความร่วมมือของมาเลเซียกับ COVAX ทำให้มาเลเซียจะมีวัคซีนเพียงพอสำหรับ 10% ของจำนวนประชากร โดยรัฐบาลกำลังทำงานเพื่อให้ได้อีก 60% เพื่อให้บรรลุตามเป้าในการสร้างภูมิคุ้มกันของประชาชนในประเทศ
รมว.ไครีคาดการณ์ว่า มาเลเซียจะมีวัคซีนใช้เร็วที่สุดในไตรมาสแรก หรือไตรมาส 2 ของปีหน้า ขึ้นอยู่กับการอนุมัติของ National Pharmaceutical Regulatory Agency (NPRA)
ในวันที่ 16 พ.ย.มาเลเซียรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,103 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมจากโควิด-19 ทั้งหมดอยู่ที่ 48,520 ราย ขณะที่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก 4 ราย ทำให้ผู้เสียชีวิตทั้งหมดอยู่ที่ 313 ราย
คณะกรรมการพิเศษในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของมาเลเซีย (JKJAV) ระบุว่า จะจัดหาวัคซีนให้กับ 3 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกคือเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติการในแนวหน้า เช่น เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข ตำรวจ ทหาร และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
โดยกลุ่มที่สองเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้ที่มีโรคประจำตัว และผู้สูงอายุ ขณะที่กลุ่มที่สามคือ ประชากรวัยผู้ใหญ่
โดยในวันเดียวกัน ดร.อัดฮัม บาบา รมว.สาธารณสุขระบุว่า มาเลเซียตั้งเป้าที่จะกระจายวัคซีนเพื่อสร้างภูมิตุ้มกันได้ภายในไตรมาสแรกของปีหน้า
“ อย่างที่เราทราบ วัคซีนที่ผลิตโดยไฟเซอร์และ BioNTech มีประสิทธิภาพถึง 90% เป็นการพัฒนาที่ดีสำหรับระบบสาธารณสุขทั่วโลก ” ดร.อัดฮัมกล่าว
เขาเสริมว่า “กระบวนการของวัคซีนโควิด-19 สำหรับประเทศของเราจะขึ้นอยู่กับการพิจารณาอย่างระมัดระวังในด้านคุณภาพ ความปลอดภัย และการจดทะเบียนในประเทศผู้ผลิต” ในระหว่างการให้สัมภาษณ์ทางสถานีวิทยุ
เขายังระบุว่า โอกาสการติดเชื้อใหม่ของผู้ป่วยที่หายจากโควิด-19 มีต่ำมาก เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน
โดยอัตราที่ผู้ป่วยรักษาหายดีเพิ่มขึ้นเป็น 73% เมื่อเทียบกับอัตรา 65% เมื่อสองสัปดาห์ก่อน
“จำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในกรุงกัวลาลัมเปอร์ชี้ว่า เราจำเป็นต้องมีมาตรการคุมเข้ม การปฏิบัติตาม การบังคับใช้และการจับตาเฝ้าระวัง เราต้องมีมาตรการป้องกันและควบคุมอย่างต่อเนื่อง และปรับตัวให้กลายเป็นชีวิตวิถีใหม่”
รมว.สาธารณสุขระบุ