IMF เตือนศก.เมียนมาเสี่ยงชะลอตัว

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF เตือนว่า เศรษฐกิจเมียนมา “ดูจะสูญเสียโมเมนตัม” และแสดงความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตในรัฐยะไข่และความอ่อนแอในภาคธนาคารของเมียนมา
โดย IMF เตือนว่า “มีความเสี่ยงในแง่ลบ” และความล้มเหลวในการจัดการปัญหามนุษยธรรม หรือกระบวนการรับคืนผู้ลี้ภัยจะส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจของประเทศ
“ วิกฤตมนุษยธรรมที่ยืดเยื้อ และการถอนสิทธิพิเศษทางการค้าอาจทำให้ภาคการเงินและการลงทุนมีการเติบโตลดลง” IMF กล่าว โดยทางสหภาพยุโรปกำลังพิจารณาเริ่มกระบวนการถอนสิทธิพิเศษทางศุลกากรที่ให้กับเมียนมา เนื่องจากมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐยะไข่
IMF เสริมว่า ความเปราะบางของธนาคารเป็นอีกความเสี่ยง ผลกระทบภายนอกภาคการเงินจากการปรับโครงสร้างภาคธนาคารที่กำลังดำเนินการอยู่ ยิ่งทำให้ธนาคารเพิ่มทุนได้ล่าช้า มีความจำเป็นต้องพัฒนาปรับปรุงการดำเนินการและรับรู้การขาดทุน
เงินเฟ้อปี 60 – 61 เฉลี่ยอยู่ที่ 4.0% เพิ่มขึ้นจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นและค่าเงินจ๊าดที่อ่อนค่าลง โดยเงินจ๊าดอ่อนค่าลง 14.5% ตั้งแต่เดือนเม.ย.61
โดย IMF คาดการณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของเมียนมาจะอยู่ที่ 6.4% ในปีงบประมาณ 61 – 62 ( ต.ค.61 – ก.ย. 62) หากการใช้จ่ายของรัฐบาลเพิ่มขึ้น เปรียบเทียบกับตัวเลข 6.8% ในปี 60 – 61 ( เม.ย.60 – มี.ค. 61) และการเติบโตต่อปีที่ 6.2% ในช่วง 6 เดือนถึงก.ย.61
ถึงแม้การคาดการณ์ระยะยาวจะน่าพอใจ แต่ประเมินว่าการเติบโตจะ “ยังคงต่ำกว่าศักยภาพ” ในปีนี้จากดีมานด์การส่งออกที่อ่อนแรงลง และกิจกรรมก่อสร้างภาคเอกชนที่หดตัว คาดการณ์ว่าจะเติบโตในระดับกลาง ( 6.6% ในปี 62 – 63 และ 6.7% ในปี 63 – 64 )
การเติบโตมีปัจจัยเสี่ยงด้านลบจากรัฐยะไข่ มีความผันผวนภายนอก ทั้งความตึงเครียดทางการค้า ราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น และผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว
Sean Turnell ที่ปรึกษาเศรษฐกิจของนางอองซาน ซูจีระบุว่า “ เป็นครั้งแรกที่เมียนมามีรัฐบาลที่จริงจังกับการควบคุมพื้นฐาน เช่น การกำกับดูแลธนาคาร แน่นอนว่า ในหลายส่วน ต้องใช้เวลาเคลียร์ปัญหาที่มีมานานในภาคธนาคาร และกระบวนการโดยรวม ” ที่ปรึกษากล่าวกับสื่อเมียนมาไทม์
เศรษฐกิจชะลอตัว “เป็นเหมือนกันทั่วโลก” และ IMF ประเมินว่า การเติบโตของเมียนมาจะสูงกว่าระดับปกติของทั่วโลกและดีเท่ากับจีน
Dr Turnell ระบุว่า การจัดการเศรษฐกิจที่ “แข็งแกร่ง” ของรัฐบาล “เปล่งประกาย” ในรายงาน และความรอบคอบด้านงบประมาณจะทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไปภายใต้แผนพัฒนาที่ยั่งยืนของเมียนมา (MSDP) โดยการปฏิบัติตามการปฏิรูปในระลอกสองของ MSDP ที่ประสบความสำเร็จจะช่วยให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน
ขณะที่ความเสี่ยงของประเทศเพิ่มขึ้นจากรัฐยะไข่และการไร้ความสามารถของภาครัฐ และระบบกฎหมายที่หยุดธุรกิจในประเทศจากการควบคุมตลาดและหยุดการแข่งขัน
การจะได้โมเมนตัมกลับมา Adam McCarty นักเศรษฐศาสตร์ชี้ว่า เมียนมาต้องลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ หยุดกังวลเรื่องหนี้ และ “ กู้ยืมทุกดอลลาร์ที่เป็นไปได้ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่รับได้ ถึงเวลาต้องใช้เงิน ไม่ใช่เก็บเงิน”
นอกจากนี้ เมียนมาจำเป็นต้องมุ่งเน้นการแข่งขันด้านราคา เพราะเศรษฐกิจ “ เต็มไปด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไปและวิธีการปฏิบัติที่ไม่ส่งเสริมการแข่งขัน”
ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย ทำนายว่าเมียนมาจะเติบโต 6.6% ในปีงบประมาณนี้ และยังเตือนเรื่องการปฏิรูปที่ล่าช้า และการถอนสิทธิพิเศษทางการค้าว่ายังคงเป็นความเสี่ยง.