สารเคมีรั่วไหลกระทบกว่า 3 พันคนในมาเลย์

มีคนไข้ใหม่อีก 780 รายที่ถูกบันทึกในเวชระเบียนที่สนามกีฬาในร่มปาเซอร์กุดัง ทำให้จำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุสารเคมีรั่วไหลจากขยะเคมีที่ถูกนำมาทิ้งอย่างผิดกฎหมายในแม่น้ำยะโฮร์บารูเมื่อวันที่ 7 มี.ค.เพิ่มเป็น 3,555 ราย
อย่างไรก็ตาม ซารุดดิน จามาล ประธานคณะกรรมการสาธารณสุข สิ่งแวดล้อมและเกษตรกรรมระบุว่า มีเพียง 202 รายที่ต้องได้รับการรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาล รวมกับอีก 113 รายซึ่งพักรักษาตัวอยู่ก่อนแล้ว เขากล่าวว่าผู้ที่ส่งตัวมาโรงพยาบาลก่อนหน้านี้ สามารถกลับบ้านได้แล้ว
“ จำนวนเหยื่อ 531 รายที่ได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลสุลตานาห์ อมินาห์ (HSA) และรพ.สุลต่าน อิสมาอิล (HSI) ออกจากโรงพยาบาลและกลับบ้านได้แล้ว ” เขากล่าว
การทิ้งขยะพิษผิดกฎหมายลงในพื้นที่ซุนไกคิมคิมในเมืองปาเซอร์กุดัง รัฐยะโฮร์มีผลทำให้ 111 โรงเรียนในพื้นที่ถูกสั่งปิด
แต่ก่อนหน้านี้ รัฐบาลระบุว่า รู้สึกว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องประกาศให้ซุนไกคิมคิมและพื้นที่ใกล้เคียงเป็นเขตภัยพิบัติ หรือต้องอพยพประชาชน
โดยนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮัมหมัดระบุว่า ยังไม่ร้ายแรงถึงระดับที่ต้องอพยพประชาชน
“ ประชาชนต้องมีศรัทธาในรัฐบาลในการรับมือกับประเด็นนี้” นายกฯมหาเธร์กล่าว
“ รัฐบาลได้ทำอย่างดีที่สุดอย่างเต็มความสามารถของเรา เนื่องจากนี่เป็นกรณีแรกที่เกี่ยวข้องกับก๊าซ” นายกฯมหาเธร์กล่าวหลังจากลงพื้นที่ประสบภัยและเยี่ยมเยียนเหยื่อในโรงพยาบาลอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา
เมื่อถูกถามว่า เหตุเลวร้ายที่สุดจบลงแล้วหรือไม่ หรืออาจมีอีกระลอกหนึ่ง เขากล่าวว่า” เราไม่อาจบอกได้ว่าส่วนที่เลวร้ายที่สุดจบลงแล้ว หรือสถานการณ์จะดีขึ้น ที่เรารู้คือ เราจะแก้ปัญหาได้อย่างไร”
Dzulkefly Ahmad รมว.กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ไม่เป็นความจริงที่ว่าทางกระทรวงมีการดำเนินการขานรับกับประเด็นนี้ช้าเกินไป
“กระทรวงสาธารณสุขมีการดำเนินการตั้งแต่วันแรก ผมได้คุยกับฝ่ายสาธารณสุขของรัฐยะโฮร์จากวันแรก และเรารักษาทุกเคส ไม่ว่าจะร้ายแรงหรือไม่ ในบางเคส เป็นการสังเกตการณ์ ดังนั้น ประเด็นที่ว่ากระทรวงสาธารณสุขชักช้าไม่เป็นความจริงเลย”.