นักข่าวเมียนมายื่นอุทธรณ์โทษจำคุก
สองนักข่าวเมียนมาที่ทำงานให้สำนักข่าวรอยเตอร์ ซึ่งถูกโทษจำคุกหลังรายงานข่าววิกฤตโรฮิงญาในเมียนมายื่นอุทธรณ์คำพิพากษาเมื่อวันที่ 24 ธ.ค. หลังจากถูกทางการควบคุมตัวมานานกว่าหนึ่งปี
โดย Wa lone วัย 32 ปี และ Soe Oo วัย 28 ปี ถูกจับกุมตัวในเดือนธ.ค. 2560 และต่อมาถูกศาลตัดสินจำคุกเป็นเวลา 7 ปี จากข้อหาที่อัยการระบุว่า ครอบครองเอกสารลับของฝ่ายความมั่นคง
สำนักข่าวรอยเตอร์โต้แย้งข้อกล่าวหา และชี้แจงว่า นักข่าวทั้งสองคนถูกจัดฉากเพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าจับกุม หลังรายงานข่าวการสังหารหมู่ชาวมุสลิมโรฮิงญา 10 คนในระหว่างการปราบปรามของกองทัพ
คำพิพากษาของศาลเมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมาก่อให้เกิดกระแสการประณามไปทั่ว รวมทั้งจากรองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์แห่งสหรัฐฯ ซึ่งเรียกร้องให้นางอองซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายพลเมืองของเมียนมาเข้าแทรกแซงในประเด็นนี้ แต่การเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวทั้งสองคนไม่มีผลในเมียนมา ที่ซึ่งซูจีไม่มีการแถลงข่าวในประเด็นนี้ต่อสาธารณชน
สื่อร่วมอุดมการณ์หลายสำนักระบุว่า การตัดสินของศาลกลายเป็นข้อความที่แผ่วเบาเกี่ยวกับการสอบสวนในประเด็นที่อ่อนไหวในเมียนมา ซึ่งเคยถูกปกครองอย่างเข้มงวดโดยรัฐบาลทหารมานานหลายสิบปี
“ นี่เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้สำหรับประเทศที่อ้างว่าได้มีกระบวนการเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตยแล้ว” Daniel Bastard จากองค์กรนักข่าวไร้พรมแดน (RSF) กล่าวกับสำนักข่าว AFP เมียนมาตกลงมาถึง 6 อันดับจากดัชนีเสรีภาพนักข่าวโลกล่าสุดของ RSF และ Bastard ระบุว่า มีแนวโน้มจะร่วงลงต่อไปอีกในปีหน้า
ขณะที่กระแสในเมียนมาเงียบมาก แต่นอกประเทศ นักข่าวเมียนมาจากรอยเตอร์ทั้งสองคนได้รับการยกย่องและมอบรางวัลให้กับความกล้าหาญของพวกเขา โดยชื่อของ Wa Lone และ Soe Oo ได้รับการเชิดชูให้เป็นบุคคลแห่งปีร่วมกับนักข่าวคนอื่นๆที่ถูกทารุณของนิตยสารไทม์ในปีนี้ เนื่องจากมีความกังวลเพิ่มขึ้นถึงประเด็นการละเมิดเสรีภาพสื่อทั่วโลก
ในวาระครบรอบหนึ่งปีที่พวกเขาถูกจับกุม ห้องข่าวของรอยเตอร์ตีพิมพ์ภาพของบรรดานักข่าวในสำนักงานที่ชูหัวแม่มือทั้งสองข้าง ซึ่งเป็นท่าทางของ Wa Lone ที่ทำหน้าศาล และกลายเป็นสัญลักษณ์ของความทนทาน ความยืดหยุ่นของทั้งสองคน
การไต่สวนและพิจารณาคดีในศาลถูกมองว่าเป็นเรื่องน่าละอาย และเป็นการแก้แค้นเอาคืนจากฝ่ายทหาร จากการที่พวกเขาทั้งสองคนเปิดโปงเหตุสังหารหมู่ชาวมุสลิมโรฮิงญาในหมู่บ้าน Inn Din ให้โลกรับรู้ว่าเป็นเรื่องจริง
เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ช่วยเปิดโปงให้การในชั้นศาลว่า ผู้บังคับบัญชาของเขาสั่งการให้มีแผนการจัดฉากเพื่อล่อนักข่าวให้มาติดกับและถูกจับกุมในที่สุด
ทั้งนี้ ชาวมุสลิมโรฮิงญากว่า 700,000 คนอพยพหลบหนีความรุนแรงจากการปราบปรามของกองทัพเมียนมาในรัฐยะไข่ข้ามพรมแดนไปบังคลาเทศตั้งแต่เดือนส.ค.ปีที่แล้ว โดยสิ่งที่ทหารกระทำมีทั้งข่มขืน ลอบวางเพลิง และสังหารหมู่
คณะกรรมการสอบสวนจากสหประชาชาติระบุว่า จากหลักฐานที่มีทั้งหมดพิสูจน์ว่าผู้บัญชาการกองทัพเมียนมากระทำความผิดในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่กองทัพยังคงปฏิเสธและยืนยันว่าเป็นการต่อสู้เพื่อปราบปรามกลุ่มติดอาวุธโรฮิงญา.