อินโดฯขาดดุลการค้าสูงสุดในรอบ 5 ปี
อินโดนีเซียโพสต์ตัวเลขขาดดุลการค้าประจำเดือนพ.ย. ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดในรอบกว่า 5 ปี เนื่องจากการส่งออก โดยเฉพาะน้ำมันปาล์มและเนื้อของปาล์มราคาดิ่งเหว อ้างอิงจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.
โดยจำนวนการขาดดุลการค้าในเดือนพ.ย. อยู่ที่ 2,050 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มากกว่าเดือนต.ุค.ที่มีการปรับแก้ตัวเลขเป็น 1,770 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และถือเป็นตัวเลขการขาดดุลการค้าที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ค. 2556 เป็นต้นมา อ้างอิงจากข้อมูลของ Refinitiv ขณะที่โพลนักวิเคราะห์จากรอยเตอร์คาดการณ์ว่าจะมีการขาดดุลอยู่ที่ 830 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
หลังทราบข้อมูล เงินรูเปียห์อ่อนค่าลงเล็กน้อยลงมาอยู่ที่ 14,620 รูเปียห์ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
ตัวเลขส่งออกลดลงอย่างน่าประหลาดใจถึง 3.28% ในเดือนพ.ย.เมื่อเทียบกับปีก่อนลงมาอยู่ที่ 14,830 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นตัวเลขประจำเดือนที่ย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.ปี 2560 เป็นต้นมา โดยตัวเลขคาดการณ์เฉลี่ยของโพลนักวิเคราะห์อยู่ที่ 3.95% สำหรับการส่งออก
ยอดขายสินค้าในต่างประเทศ เช่น น้ำมันปาล์ม อัญมณี เนื้อปาล์ม กระดาษ และน้ำมันดิบ เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ตัวเลขดิ่งร่วง ซูฮาริยันโต ผอ.สำนักงานสถิติแห่งชาติของอินโดนีเซียระบุในการแถลงข่าว
โดยรายได้จากการส่งออกน้ำมันพืช ทั้งน้ำมันปาล์มและน้ำมันมะพร้าวลดลงเกือบ 19% ในเดือนพ.ย. เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากราคาตกต่ำลงมาก เขากล่าว
ขณะที่ตัวเลขการนำเข้าในเดือนพ.ย.อยู่ที่ 16,880 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น 11.68% เมื่อเทียบกับปีก่อน สูงกว่าค่าเฉลี่ยการประเมินจากโพลซึ่งอยู่ที่ 10.50% แต่ลดลงมามากจากตัวเลขเดิม 24% ในเดือนต.ค.
อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้องดิ้นรนอย่างหนักเพื่อควบคุมการเติบโตของการนำเข้าในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ โดยมีการใช้หลายมาตรการ รวมทั้งการปรับขึ้นภาษีนำเข้าให้สูงขึ้น
ทางการอินโดฯยังได้เร่งให้มีการเจรจาเพื่อการทำข้อตกลงการค้าเสรีเพื่อให้การส่งออกสามารถเข้าถึงตลาดประเทศอื่นๆได้มากขึ้น ช่วยลดช่องว่างทางการค้าและสนับสนุนค่าเงินรูเปียห์
ธนาคารกลางอินโดนีเซียปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปแล้วถึง 6 ครั้ง ตั้งแต่เดือนพ.ค.เป็นต้นมา เพื่อดึงดูดการลงทุนที่จำเป็นเพื่อปรับสมดุลลดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด
Fakhrul Fulvian นักเศรษฐศาสตร์ที่ Trimegah Sekuritas ระบุว่า การขาดดุลการค้าเกินคาดการณ์จะ “ ทำให้ตัวเลขคาดการณ์ที่จะปรับสมดุลบัญชีเดินสะพัดลดต่ำลง” ในไตรมาส 4
อย่างไรก็ตาม เขาชี้ว่า ธนาคารกลางจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง เพราะได้ทำไปแล้วในเดือนพ.ย. Myrdal Gunarto นักเศรษฐศาสตร์ประจำ Maybank อินโดนีเซียเห็นด้วย
“ ความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดในประเทศยังคงสามารถจัดการได้ และการขาดดุลการค้าได้แรงหนุนจากเงินต่างประเทศที่ไหลกลับเข้ามา ” Gunarto กล่าว “ เราคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางอินโดฯจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เท่ากับในปัจจุบัน”