แอมเนสตี้ถอนรางวัลซูจี

องค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International ) ถอนรางวัลสิทธิมนุษยชนสูงสุดจากนางอองซาน ซูจี โดยกล่าวหาว่าผู้นำเมียนมาละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการเพิกเฉยต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับคนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงญา
ครั้งหนึ่งนางซูจีเคยเป็นผู้ที่ต่อสู้มาอย่างยาวนานเพื่อประชาธิปไตย แต่ตอนนี้เธอกลับถูกถอดรางวัลที่ได้รับองค์กรนานาชาติอย่างต่อเนื่อง จาก
การที่เธอเพิกเฉยไม่ให้ความช่วยเหลือชาวมุสลิมโรฮิงญา ซึ่งถูกทหารเมียนมาปราบปรามอย่างรุนแรงจนต้องอพยพลี้ภัยไปบังคลาเทศตั้งแต่เดือนส.ค.ปี 2560
โดยชาวโรฮิงญากว่า 700,000 คนที่อาศัยอยู่ในเมียนมาอย่างคนไร้รัฐได้อพยพหนีข้ามพรมแดนเมียนมาไปบังคลาเทศ หลังกองทัพเมียนมาเข้าปราบปรามกลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงญาที่บุกทำร้ายเจ้าหน้าที่ความมั่นคงก่อน
เจ้าหน้าที่สอบสวนของสหประชาชาติกล่าวหาว่า ทหารเมียนมาได้ลงมือสังหาร ข่มขืน และวางเพลิงเผาบ้านเรือนโดยมี ‘เจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’
แต่รัฐบาลของนางซูจีปฏิเสธว่าเป็นผลการสอบสวนแต่เพียงฝ่ายเดียว และระบุว่าการกระทำของกองทัพเมียนมาเป็นปฏิบัติการต่อต้านการก่อกบฎที่ถูกต้องตามกฎหมาย
โดยกลุ่มสิทธิมนุษยชนสากลประกาศชื่อนางซูจีเป็นผู้ได้รับรางวัล Ambassador of Conscience Award ในปี 2552 ในขณะที่เธอยังถูกรัฐบาลทหารควบคุมตัวให้อยู่แต่ในบ้านพักของเธอ จากการที่เธอต่อต้านรัฐบาลเมียนมาและเรียกร้องประชาธิปไตยให้ประชาชน
ในปีที่ 8 หลังได้รับการปล่อยตัว ซูจีนำพรรคการเมืองของเธอชนะการเลือกตั้งในปี 2558 และจัดตั้งรัฐบาลใหม่ในปีถัดมา แต่เธอยังคงต้องแบ่งอำนาจในการบริหารประเทศกับกลุ่มนายพลระดับผู้นำหลายนาย และไม่สามารถคุมกองกำลังฝ่ายความมั่นคงได้
เมื่อวันที่ 13 พ.ย. องค์การนิรโทษกรรมสากลระบุในแถลงการณ์ว่า เธอล้มเหลวที่จะเป็นกระบอกเสียงให้และปกป้องคุ้มครองชาวโรฮิงญาจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ โดยเรียกว่าเป็น “การทรยศที่น่าละอายต่อคุณค่าของสิ่งที่ครั้งหนึ่งเธอเคยยืนหยัด”
Kumi Naidoo เลขาธิการของแอมเนสตี้ ได้ส่งสารถึงนางซูจีเมื่อวันที่ 11 พ.ย.โดยระบุว่า ทางกลุ่มขอถอนรางวัลเพราะ “เป็นเรื่องน่าผิดหวังอย่างที่สุดที่คุณไม่เป็นตัวแทนของความหวัง ความกล้าหาญ และปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างไม่สิ้นสุด”
โดย Zaw Htay โฆษกรัฐบาลเมียนมาไม่ได้ให้ความเห็นกับสื่อรอยเตอร์เมื่อวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา
เมื่อเดือนมี.ค. พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในสหรัฐฯ เพิกถอนรางวัลสูงสุดคืนจากนางซูจี ขณะที่เธอถูกถอนรางวัลเกียรติยศอื่นๆอีก เช่น รางวัลเสรีภาพจากเมืองดับลินและอ็อกซฟอร์ด อังกฤษ จากวิกฤตชาวโรฮิงญา
และเมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมา รัฐสภาแคนาดามีมติให้ถอดถอนซูจีออกจากการเป็นพลเมืองกิตติมศักดิ์
นอกจากนี้ นักวิจารณ์ยังได้เรียกร้องให้มีการถอนรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพในปี 2534 ของเธอด้วย แต่ทางมูลนิธิที่กำกับดูแลเรื่องรางวัลระบุว่า จะไม่ทำเช่นนั้น
องค์การนิรโทษกรรมสากลยังได้ระบุว่า นางซูจีไม่ได้ประณามการกระทำของกองทัพจากความขัดแย้งของกองทัพและกลุ่มชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยในรัฐยะไข่ที่อยู่ทางเหนือของเมียนมา และรัฐบาลของเธอมีมาตรการเข้มงวดไม่ให้กลุ่มสิทธิมนุษยชนเข้าถึงได้ นอกจากนี้ รัฐบาลของเธอยังไม่สามารถหยุดการโจมตีเสรีภาพในการพูดได้.