เชื่อค่าเงินอินโดฯจะเริ่มฟื้น
หลังจากอ่อนค่าลงมากที่สุดในรอบเกือบ 3 ปีต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ค่าเงินรูเปียห์จะมีสเถียรภาพนับจากนี้เป็นต้นไป รมว.กระทรวงการค้าของอินโดนีเซียกล่าวกับสื่อ CNBC เมื่อวันที่ 29 ส.ค.
เงินรูเปียห์เป็นหนึ่งในสกุลเงินเอเชียที่ย่ำแย่ที่สุดในปีนี้ เนื่องจากนักลงทุนหนีจากประเทศเกิดใหม่ที่มีบัญชีเดินสะพัดและงบประมาณขาดดุล
ในช่วงเช้าวันที่ 29 ส.ค. 1 ดอลลาร์สหรัฐฯเท่ากับ 14,640 รูเปียห์ ถือเป็นการอ่อนค่าลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.ปี 2558 เป็นต้นมา เมื่อเทียบกับ 13,565 รูเปียห์ในช่วงต้นปี 2561
โดย Enggartiasto Lukita รมว.กระทรวงการค้าของอินโดนีเซียกล่าวกับสื่อ CNBC ว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ และนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาในประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอย่างสหรัฐฯ
“ เป็นเรื่องดีสำหรับสหรัฐฯ แต่มันส่งผลกระทบกับทุกประเทศ ” เขากล่าว โดยเสริมว่าอินโดนีเซียจะใช้ทั้งนโยบายทางการเงินและการคลังเพื่อปกป้องสกุลเงินรูเปียห์ไม่ให้อ่อนค่าลงอีก
เมื่อถูกถามว่า เขาเชื่อมั่นว่านโยบายเหล่านี้จะสร้างเสถียรภาพให้กับเงินรูเปียห์ และปกป้องไม่ให้อ่อนค่าลงไปอีก เขาตอบว่า “ใช่ครับ ผมเชื่อ”
ทางการอินโดนีเซียช่วยหนุนค่าเงินเป็นเรื่องสำคัญลำดับแรก โดยธนาคารกลางของประเทศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว 4 ครั้งตั้งแต่เดือนพ.ค.เป็นต้นมา และนำเงินสดสำรองต่างประเทศมาซื้อเงินรูเปียห์ โดยรัฐบาลยังประกาศมาตรการเพื่อลดแรงกดดันของสกุลเงิน รวมทั้งตั้งกำแพงภาษีกับสินค้านำเข้าที่สามารถผลิตได้ในประเทศ
โดยมาตรการภาษีตั้งเป้าที่จะลดดีมานด์การนำเข้า ซึ่งลดความต้องการที่จะขายเงินรูเปียห์เพื่อแลกเปลี่ยนกับสกุลเงินต่างประเทศ และยังเป็นการช่วยพยุงการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งเหตุผลที่นักลงทุนต่างชาติจะนำเงินของพวกเขาออกจากประเทศ
“ ผมไม่คิดว่าอินโดนีเซียเป็นเป้าหมาย ” รมว.ระบุเมื่อถูกถามว่าเงินรูเปียห์ถูกนักลงทุนเทขายอย่างไม่เป็นธรรม เขาย้ำว่า การอ่อนค่าลงของเงินรูเปียห์เป็นผลกระทบตามปกติของสภาวะทางการเงินทั่วโลกที่ตึงเครียดขึ้นโดยทั่วไป
สำหรับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปีหน้า ประธานาธิบดีโจโค วิโดโดยังคงให้คำมั่นว่าจะลดการขาดดุลของประเทศ โดยเขาระบุเมื่อต้นเดือนนี้ว่า เขาตั้งเป้าที่จะลดการขาดดุลงบประมาณของประเทศลงเหลือ 1.84% ต่อจีดีพีในปี 2562 จากประมาณ 2.12% ในปีนี้ แม้จะมีการใช้จ่ายมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งยังคงตั้งคำถามกับความสามารถของอินโดนีเซียที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้นเพื่อเป็นทุนให้กับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น
โดยสถาบันจัดอันดับอย่างมูดีส์ก็ระบุว่า สถานการณ์หนี้ของอินโดนีเซียจะไม่ดีขึ้นหากจัดเก็บรายได้ไม่ได้ตามเป้า
ทั้งนี้ อินโดนีเซียมีประมาณ 41% ของหนี้รัฐบาลที่เป็นเงินต่างประเทศ ซึ่งแปลว่า หากอินโดนีเซียไม่สามารถโน้มน้าวให้กลุ่มนักลงทุนเชื่อว่าสามารถควบคุมการเงินได้ เงินรูเปียห์ก็มีความเสี่ยงที่จะอ่อนค่าลงไปอีก ซึ่งจะทำให้หนี้ที่จะจ่ายแพงขึ้น
“ ดังนั้น การสนับสนุนความเชื่อมั่นของตลาดโดยมีวินัยทางการคลังป็นสิ่งสำคัญสำหรับประวัติเครดิตของอินโดนีเซีย ” มูดีส์ระบุในรายงาน.